วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ปตท.แจงจำเป็นต้องปรับราคาเอ็นจีวี

 
ผู้บริหารปตท. ออกโรงแจงความจำเป็นต้องปรับราคาก๊าซเอ็นจีวี หลังแบกรับภาระขาดทุนจากการตรึงราคาก๊าซแล้วกว่า 27,000 ล้านบาท ระบุ หากไม่มีการปรับขึ้นราคาปีนี้ ปตท.อาจต้องขาดทุนเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท วอนประชาชนและรัฐบาลใหม่ เข้าใจสถานการณ์และช่วยแก้ไขปัญหา เพื่อให้เอ็นจีวี เป็นพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน

นายเติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ. ปตท. เปิดใจในงานเสวนา แนวทางการบริหารจัดการ NGV เป็นพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยทำความเข้าใจในปัญหาก๊าซเอ็นจีวี.ขาดแคลนในช่วงก่อนหน้านี้ว่าเป็นเพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้บริการก๊าซ เอ็นจีวี. ที่ถูกตรึงราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 8.50 บาท เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว โดยพบว่าแต่ละวันมียอดรถยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี.เพิ่มขึ้นวันละกว่า 400-500 คัน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เป็นการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ที่ติดตั้งก๊าซเอ็นจีวีจากโรงงาน ทั้งนี้พบว่าความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวี.ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน ซึ่งอยู่นอกแนวท่อก๊าซ ทำให้ระบบการจัดส่งก๊าซทำไม่ทัน และเกิดปัญหาการขาดแคลน แต่อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาดังกล่าวเริ่มดีขึ้นหลังจากการสร้างสถานีส่งก๊าซที่ลานกระบือ และที่น้ำพองแล้วเสร็จ ทำให้การจัดส่งก๊าซในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานทำได้มากขึ้นปัญหาก็เริ่มคลี่คลาย และในเดือนก.ค.-ส.ค. จะมีสถานีแม่เพิ่มอีก 2แห่ง ก็จะทำให้การจ่ายก๊าซดีขึ้น ทั้งนี้พบว่ายอดการจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี.ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6 ล้านกิโลกรัมต่อวันปตท.ขาดทุนกิโลกรัมละ 6 บาทแต่ได้รับการชดเชยจากเงินกองทุนน้ำมันฯ 2 บาท เท่ากับว่า ปตท. แบกรับภาระขาดทุน 4 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาปรับเพิ่มราคาก๊าซขึ้นให้สะท้อนต้นทุน อาจจะใช้การทยอยปรับราคาจาก 8.50 บาทเป็น 10 และ12 บาทจนสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรืออาจค่อยๆ ปรับราคาทุกๆ 6 เดือนเพื่อให้เกิดการปรับตัวก็พร้อมจะปฏิบัติตาม

นายเติมชัย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เห็นใจปตท. ที่ต้องแบกรับภาระการตรึงราคาก๊าซเอ็นจีวี.อยู่ที่ 8.50บาท มาตลอด 8 ปี แบกรับการขาดทุนมากว่า 27,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ต้นทุนที่แท้จริงของราคาเอ็นจีวี. อยู่ที่เฉลี่ยกิโลกรัมละ14บาท แต่หากดูต้นทุนจริงตามพื้นที่ จะมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ12-20 บาทขึ้นอยู่กับระยะทางของสถานีลูกกับสถานีแม่ ซึ่งหากสถานีก๊าซอยู่ตามแนวท่อ ก็จะมีต้นทุนที่ประมาณ12 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากอยู่ไกลแนวท่อก็จะมีต้นทุนค่าขนส่งที่อยู่ในระดับสูงจนทำให้ต้นทุนราคาก๊าซปรับสูงขึ้นถึง20 บาทต่อกิโลกรัม

สำหรับโครงสร้างราคาก๊าซเอ็นจีวี. ปัจจุบัน พบว่า ต้นทุนเนื้อก๊าซ อยู่ที่8.39บาทต่อกิโลกรัม /ต้นทุนดำเนินการสถานีและท่อส่งก๊าซ 2 บาทกว่าต่อกิโลกรัม/ ต้นทุนค่าดำเนินการสถานีบริการ30 สตางค์ต่อกิโลกรัม/ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7เปอร์เซ็นต์ / ค่าการตลาดอีกประมาณ 50 สตางค์ ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคารวมของก๊าซเอ็นจีวี.ตามแนวท่ออยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่สถานีลูกที่อยู่ห่างจากแนวท่อ( ไม่เกิน50กิโลเมตร) จะต้องรวมต้นทุนเนื้อก๊าซ 8.39 บาทต่อกิโลกรัม /ค่าลงทุนดำเนินการสถานีแม่ 1.60 บาท /ค่าลงทุนดำเนินการสถานีลูก อีก 2 บาทเศษ / ค่าขนส่งขึ้นอยู่กับระยะทาง / ค่าบริหารจัดการสถานีลูก และสถานีแม่60 สตางค์ต่อกิโลกรัม รวมค่าการตลาดและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 17 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาเฉลี่ยที่ 14 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเพียงราคาเฉลี่ยเท่านั้น

ทั้งนี้หากยังไม่มีการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี. ในปีนี้ปตท.อาจต้องรับภาระขาดทุนอีกถึง 10,000 ล้านบาท และการเดินหน้าโครงการสนับสนุนการใช้ก๊าซเอ็นจีวี.ก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้ จะไม่มีแรงจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาขยายการบริการ และปัญหาจะยิ่งหนักขึ้นเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี2558 ที่ภาคขนส่งของต่างชาติสามารถใช้ก๊าซเอ็นจีวี.ของไทยในราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งปตท.และประเทศชาติจะเสียประโยชน์

บทความ