นิทานธรรมะเรื่อง “หกผีร้าย” คนเรามักจะกลัวกันแต่ผีหลอก ๆ เดี๋ยวกลัวผีโน้นผีนี่ว่า
จะมาหลอกเรา ผีร้ายที่จะมาหลอกเราในที่นี้ ไม่ใช่ผีปอบ ผีแม่นาค ผีแม่หม้าย ผีกระสือ ผีกระหัง ผีฝรั่ง ผีจีน หรือผีอะไรอื่นที่เราเข้าใจกัน แต่มันเป็นผีจริง ๆ ชนิดหนึ่งที่หลอกเรามากในแต่ละวัน วันไหนเราขาดสติควบคุม เราก็โดนเจ้าหกผีร้ายนี้หลอกทันที
“หกผีร้าย” ที่ว่านี้มันคือผีอะไรนั้นหรือ? ขอเชิญติดตามอ่านต่อไปในเรื่องนี้
เรื่องนี้เล่าว่า มีเมืองเมืองหนึ่งชื่อ “กายนคร” มีพระเจ้าจิตตราชเป็นกษัตริย์ปกครอง
พระองค์มีพระราชธิดาเจ็ดพระองค์ แต่ละพระองค์นั้นก็มีพระโฉมงดงามเลยที่เดียว ต่อมาพระราชธิดาทั้งเจ็ดก็ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายต่างเมือง ในจำนวนเจ้าชายทั้งเจ็ด
มีลูกศิษย์พระฤาษีอยู่พระองค์หนึ่งด้วย
วันหนึ่งพระราชาทรงรับสั่งพระราชบุตรเขยทั้งเจ็ด ให้ไปเอาแก้วกายสิทธิ์ในถ้ำ
ณ ป่าหิมพานต์ เขยทั้งเจ็ดก็รับอาสาเพื่อไปเอาแก้ว พระราชาตรัสสั่งว่า
“ทางที่พวกเจ้าไปนั้นมันอันตราย มันมีผีร้ายเฝ้าอยู่ เพราะฉะนั้น พวกเจ้าต้องมีคาถาอาคมไว้ป้องกันตัว” แต่เจ้าชายที่เป็นลูกศิษย์พระฤาษีนั้นไม่กลัว
เพราะมีมนต์ของพระอาจารย์อยู่แล้ว
เขยทั้งเจ็ดก็มุ่งหน้าเดินทางไปยังป่าหินมพานต์ ทุกคนต่างระวังตัวกันเต็มที่
คนที่เจ็ดเดินไปเหลียวหลังไป เห็นเงาอะไรแวบ ๆ ก็ตกใจตัวสั่นหมด
นางผีร้ายว่าหลอกอย่างนี้คงไม่ได้ผล
จึงได้แปลงร่างเป็นหญิงสาวสวย มายืนดักหน้ารออยู่ เขยทั้งหกเห็นแล้วก็เดินผ่านไป
ไม่สนใจนางส่วนเขยคนที่เจ็ดเห็นรูปนางผีร้ายที่แปลงร่างเป็นสาวสวยมาอยู่ตรงหน้านั้น
งามสวยสะดุดตาเหลือเกิน ก็เข้าไปทักทายคุยด้วยจนเพลิน
เขยทั้งหกต่างก็เดินเลยไปหมดแล้ว นางผีร้ายได้จังหวะก็จับควักลูกกะตาเขยคนที่เจ็ด ออกมากินเป็นอาหารตายไปหนึ่งคน (นี่ ! ตายเพราะไม่ระวังตา)
คราวนี้นางผีร้ายก็กลายร่างเป็นหญิงสวย มานั่งดีดพิณเสียงไพเราะเพราะพริ้ง
ฟังแล้วจับจิตจับใจเหลือเกิน
เขยทั้งห้าได้ยินก็หยุดฟังอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เดินจากไปไม่ยินดีอะไรมากมาย
ส่วนเขยคนที่หกฟังจนเคลิบเคลิ้มหลงใหลในเสียงพิณนั้น
นางผีร้ายได้โอกาส ก็จับกัดหูเขยคนที่หกกินเป็นอาหาร ตายไปอีกคน
(นี่ ! ตายเพราะไม่ระวังหู)
นางผีร้ายแปลงกายเป็นดอกไม้ น้ำหอม น้ำปรุง แป้งหอม กระแจะจัน ส่งกลิ่นหอมไปทั่ว
เขยทั้งสี่ดมแล้วก็ไม่ติดใจอะไรมาก
จึงเดินจากไป ส่วนเขยคนที่ห้านี้ติดใจในกลิ่นหอม ก็ดมใหญ่เลย ลืมตัวมัวเมาถึงกับหักดอกไม้มาทั้งกิ่ง จนพวกไปกันหมดแล้ว
นางผีร้ายได้จังหวะ ก็จับกัดจมูกเขยคนที่ห้าจนขาด ตายไปอีกคน ตายเพราะหลงกลิ่นหอม
(นี่ ! ตายเพราะไม่ระวังจมูก)
คราวนี้นางผีร้าย กลายร่างเป็นผลไม้ สุกเต็มต้นแดงน่ากิน
เขยทั้งสี่เดินมาด้วยความอยากกิน เขาก็เก็บกินเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย
เขยทั้งสามคนกินเสร็จแล้วก็เดินจากไป
ส่วนเขยคนที่สี่ติดใจในรสชาติของผลไม้ ก็ปืนขึ้นไปบนต้นไม้ นางผีร้ายได้โอกาสก็ถีบตกลงมาคอหัก ตายไปอีกคน (นี่ ! ตายเพราะไม่ระวังลิ้น)
ตอนนี้เหลือแค่สามคน ก็เดินต่อไปยังถ้ำ จนกระทั่งค่ำคืน
เขยทั้งสามก็พักผ่อน เอาแรงไว้เดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น
นางผีร้ายก็แปลงเป็นสาวสวย มาปรนนิบัติพัดวี ด้วยสัมผัสอันอ่อนนุ่ม
พะเน้าพะนอคลอเคลียอย่างเพลิดเพลินจำเริญใจ
จนกระทั่งรุ่งเช้า
เขยสองคนไม่ติดใจอะไร? จึงเดินทางต่อไป ส่วนเขยคนที่สามติดอกติดใจ ขออยู่ต่อ
ก็เหมาคนเดียวสามคนเลยสบายละทีนี้
นางผีร้ายได้โอกาสก็จับเขยคนที่สาม กัดตรงกล่องดวงใจ จนขาดสองท่อนกินเป็นอาหาร
ตายไปอีกคน
(นี่ ! ตายเพราะหลงสัมผัสอันนิ่มนวล)
เหลือแค่สองคนในขณะที่เดินมา เขยคนที่สองดำริผิดคิดมุ่งร้ายเขยคนที่หนึ่งว่า
“ถ้าข้าฆ่าเจ้าได้ ก็จะเหลือข้าแต่เพียงผู้เดียวที่จะไปเอาแก้วกายสิทธิ์
แล้วพระธิดาทั้งเจ็ดก็จะตกเป็นของเรา”
นางผีร้ายได้จังหวะก็เลยควักเอาหัวใจเขยคนที่สองออกมากินเป็นอาหาร ตายไปอีกคน
(นี่ ! ตายเพราะดำริคิดชั่ว ๆ)
ด้วยความระมัดระวังตัวเป็นอย่างดี เขยคนที่หนึ่งก็รอดชีวิตเพียงคนเดียว
เขาเข้าไปในถ้ำ พบกับแก้วกายสิทธิ์ ชื่นชมอยู่กับแก้วนั้นเป็นเวลานาน
จนเป็นที่พอใจแล้ว
ก็ออกเดินทางกลับยังเมืองหลวง
เมื่อมาถึงเมืองหลวงพระราชาก็แปลกพระทยที่ลูกเขยกลับมาได้องค์เดียว
จึงตรัสถามว่า “เจ้ารอดมาได้อย่างไร?”
เขาทูลว่า “ข้าพเจ้าได้มนต์พระฤาษี
ท่านสอนให้นานแล้วพระเจ้าข้า คือให้มีสติระวังจิตอยู่ทุกเมื่อ
อย่าให้เกิดความยินดี ยินร้าย เมื่อเวลา ตาเห็นรูป หูฟังเสียง
จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายได้สัมผัสอันนุ่มนวล ความยินดีที่เกิดกับใจ
ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงรอดมาได้พะยะคะ”
พระราชาทรงพอพระทัยในความสามารถของเขยคนนี้มาก
พระราชาจึงทรงยกพระราชธิดาทั้งเจ็ดพระองค์ ให้อยู่ในความปกครองของลูกเขยคนนี้
เขาเป็นคนที่ทำอะไรไม่ประมาท ไม่ว่าเรื่องอะไร จะมีสติอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนั้นเขายังอบรมพระราชธิดาทั้งเจ็ดพระองค์
ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเช่นเดียวกัน
ผีจริง ๆ ที่น่ากลัวกว่าผีหลอก ๆ ทั้งหมด ซึ่งหลอกเราได้ทุกโอกาส
แต่เราก็ไม่เคยกลัว กลับไปกลัวผีปอบ ผีกระสือ ผีอะไรข้างนอก
ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้เลยว่าหน้าตาผีเหล่านี้เป็นอย่างไร
ส่วนผีข้างในซึ่งเป็นผีจริง ๆ นี้ หลอกเราอยู่ตลอดเวลา ด้วยอำนาจของตัณหาผลักใส คือความอยากใคร่ในกามคุณทั้งห้า คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และธัมมารมณ์ เรากลับมองไม่เห็น ว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ท่านพุทธทาส ภิกขุ ได้แต่งกลอนไว้ว่า “ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ
ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ”