วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

มธุปายาส

ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู เชื่อกันว่าแต่เดิมนั้นกระทำโดยพราหมณ์ ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางอิทธิพลพราหมณ์ ซึ่งเจริญมาก่อน เมื่อมีพราหมณ์เป็นจำนวนมากเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ก็นำเอาพิธีการต่าง ๆ ที่ตนเคยทำมาปฏิบัติต่อไปด้วยความเคยชิน พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าพิธีการ ทางศาสนาพราหมณ์บางพิธีนั้นไม่ทำให้เสียหายแก่ผู้ปฏิบัติ กลับทำให้เกิดความศรัทธา ในความดีงามและบำรุงกำลังใจ ก็ไม่ทรงห้ามการปฏิบัติกิจเหล่านั้นแต่ประการใด ดังนั้น พุทธศาสนิกชน สมัยหลัง ๆ มาจึงพบว่าประเพณีพราหมณ์ เข้ามาปะปนอยู่ในพุทธศาสนามาก จนบางครั้งก็ไม่รู้ว่าในชั้นต้นนั้นเป็นประเพณีอันเนื่องด้วยศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์กันแน่
ที่มาของประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคูนั้นมีผู้สันนิษฐานต่างกันออกไปเป็น 2 แนว คือ
แนวแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชพิธี สิบสองเดือนว่า ประเพณีนี้มีที่มาปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่งและในคัมภีร์ มโนถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองคัมภีร์นี้ มีเนื้อความตรงกันว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงบุรพชาติของอัญญาโกญทัญญะ ซึ่งมีความประสงค์อันแน่วแน่ที่จะศึกษาธรรมเพื่อให้บรรลุ พระอรหันต์ก่อนผู้อื่น จุดมุ่งหมายในการแสดงของพระพุทธองค์ก็เพื่อที่จะให้พระภิกษุได้ฟังพระองค์ได้ทรงแสดงว่า เมื่อพระพุทธวิปัตสีอุบัติขึ้นในโลก มีกุมพี สองคนพี่น้อง คนพี่ชื่อมหากาฬ คนน้องชื่อว่าจุลกาฬ ทั้งสองคนทำนาข้าวสาลีในนาแปลงเดียวกันเมื่อข้าวกำลังจะออกรวง (ท้อง) จุลกาฬไปในนา เอาท้องข้าวนั้นไปกินก็รู้ว่าหวานอร่อยมาก เลยจะเอาข้าวนั้นไปถวายพระภิกษุ จึงไปบอกพี่ชาย พี่ชายก็ไม่เห็นด้วย อ้างว่าไม่มีใครเคยทำ ทำไปก็สูญเสียข้าวไปเปล่า ๆ แต่จุลกาฬก็รบเร้าอยู่ทุกวัน จนมหากาฬไม่พอใจขึ้นมากทุกที ในที่สุดก็ให้แบ่งนาออกเป็น 2 ส่วน แบ่งกันคนละส่วน จุลกาฬให้ชาวบ้านช่วยกันเก็บข้าวของตนซึ่งกำลังตั้งท้องนั้น ไปผ่าแล้วนำไปต้มด้วยน้ำนมสด ไม่มีน้ำปะปนเลย ผสมเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น นำไปถวายพระพุทธองค์และพระสาวก โดยอธิฐานว่าผลทานนั้นจงเป็นเครื่องให้ตนบรรลุธรรมวิเศษก่อนคนทั้งปวง เมื่อจุลกาฬทำทานแล้วกลับไปดูนา เห็นเต็มไปด้วยข้าวสาลี ก็ยินดียิ่งนัก หลังจากนั้นก็ทำบุญในวาระต่าง ๆ อีก 9 ครั้ง จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระอัญญาโกญทัญญะ ก็ทำทานและมีความมุ่งมั่นเช่นเดิมมาโดยตลอดจนในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ก่อนพุทธสาวก ทั้งปวง จึงน่าจะสันนิษฐานได้ว่าประเพณีการกวนข้าวมธุปายาส น่าจะเนื่องมาจากอรรถกถา ที่กล่าวมาแล้วนี้
แนวที่สอง เป็นความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นความเชื่อที่เนื่องกับ พระพุทธศาสนามาเช่นกัน เป็นความเชื่อที่สอดคล้องกับพุทธประวัติตอนที่นางสุชาดาถวาย ข้าวมธุปายาสก่อนอภิสัมโพธิกาล ดังหลักฐานที่ปรากฏในพุทธประวัติเล่ม 1 ปริมกาล ปุริจเฉทที่ 5 ตอนหนึ่งว่า
" ในเช้าวันนั้นนางสุชาดาบุตรีกุฏมพีนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ณ ต.อุรุเวลา ปรารถนาจะทำการบวงสรวงเทวดา หุงข้าวมธุปายาสคือข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโคล้วนเสร็จแล้ว จัดลงในถาดทองนำไปที่โพธิพฤกษ์ เห็นพระมหาบุรุษนั่งอยู่ สำคัญว่าเทวดาจึงน้อมข้าวปายาสเข้าไปถวาย ในเวลานั้นบาตรของพระองค์เผอิญอันตรธานหาย พระองค์จึงทรงรับข้าวปายาสนั้นทั้งถาดด้วยพระหัตถ์แล้วทอดพระเนตรแลดูนาง นางทราบพระอาการจึงทูลถวายทั้งถาดแล้ว กลับไป พระมหาบุรุษทรงถือถาดข้าวปายาสเสด็จไปสู่ท่าแห่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงแล้วเสวยข้าวปายาสหมดแล้วทรงลอยถาดเสียในกระแส……"
หลังจากพระองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาแล้วก็ทรงบรรลุ อภิสัมโพธิญาณในคืนนั้นเอง เหตุนี้ชาวพุทธโดยทั่วไปในเมืองนคร จึงเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส นี่เองที่ส่งผลให้พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงเห็นข้าวมธุปายาสเป็นของดีวิเศษที่บันดาลความสำเร็จได้อย่างเอก เพราะเห็นว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงเสวยข้าวมธุปายาสแล้วทำให้พระองค์ เห็นแจ้งในธรรม แสดงว่าข้าวมธุปายาสช่วยเพิ่มพูนพลังจึงก่อให้เกิดปัญญา สมองแจ่มใส ปลอดโปร่งเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นได้ว่าข้าวมธุปายาสก็คือยาขนานวิเศษนั่นเอง
ด้วยความเชื่อดังกล่าวนี้ ประเพณีกวนมธุปายาสยาคูจึงเป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างแน่นแฟ้น แต่มีข้อปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปจากเดิมบ้าง กล่าวคือ แต่เดิมนั้นการกวนข้าวมธุปายาสจะกระทำในเดือนสิบบ้าง เดือนหกบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ทำกันในวันขึ้น 13 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 3 การกระทำนั้นแต่เดิมใช้ผู้หญิงพราหมณ์และเชื้อพระวงศ์ผู้หญิงซึ่งเป็นพรหมจารีเป็นผู้กวน แต่ต่อมาได้ได้มีการยึดถือในเรื่องนี้กันนัก ซึ่งในปัจจุบันนี้ชาวเมืองมักจะหาเครื่องปรุงมาร่วมกันที่วัดแทนที่จะเป็นตามบ้านเรือนของแต่ละคน
ตำนานข้าวมธุปายาส มาจากเรื่องของ นางสุชาดา ธิดาเศรษฐี ณ หมู่บ้านเสนานี ใกล้ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีหญิงรับใช้ชื่อนางปุณณา นางสุชาดาได้บวงสรวงขอบุตรชายต่อเทวดาประจำต้นไทร เมื่อได้บุตรชายตามประสงค์แล้ว นางจึงให้คนตระเตรียมทำข้าวมธุปายาสเพื่อนำไปเป็นพลีแก่เทวดา ที่บันดาลให้ความหวังของนางเป็นจริง แต่ก็ได้ถวายแด่ นักบวชสิทธัตถะ ผู้ประทับนั่งใต้ร่มไทรนั้น ซึ่งเมื่อนางเห็นก็เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดาที่แสดงตนมาเป็นนักบวช เพราะมีลักษณะงาม นางจึงน้อมข้าวมธุปายาสนั้นเข้าไปถวาย ครั้นนักบวชสิทธัตถะได้บอกความจริงแก่นางแล้วนางก็ยิ่งมีใจศรัทธา จึงได้ถวายข้าวนั้นทั้งถาด นักบวชสิทธัตถะได้นำข้าวมธุปายาสมาแบ่งเป็น ๔๙ ก้อน แล้วฉันจนหมด จากนั้นจึงนำถาดไปอธิษฐานแล้วลอยไปในแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อเสี่ยงทายเรื่องที่จะสามารถตรัสรู้ได้หรือไม่ ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาจึงนับว่าเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่นักบวชสิทธัตถะจะได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดังคำกล่าวที่ว่า

 
นับหกปีที่พระสิทธัตถะ
ฝึกตบะเพียรภาวนามั่น
จวบวิสาขะรุ่งอรุณพลัน
นางสุชาดานั้นเฝ้าพระองค์
ถวายข้าวปายาสด้วยศรัทธา
เสวยแล้วโมทนาดังประสงค์
ลอยถาดทวนสายชลจนจมลง
เสด็จตรงแนวป่าพนาลัย

 
วิธีเตรียมทำข้าวมธุปายาสของนางมีดังนี้ นางให้เลี้ยงแม่วัวนมไว้ในป่าชะเอมจำนวน ๑,๐๐๐ ตัว แล้วให้แม่วัวนม ๕๐๐ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๒๕๐ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๕๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๒๕ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๒๕๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๖๓ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๒๕ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๓๒ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๖๓ ตัวนั้น แล้วให้แม่วัวนม ๑๖ ตัว ดูดกินน้ำนมของแม่วัวนม ๓๒ ตัวนั้น และในท้ายที่สุดนางให้แม่วัวนม ๘ ตัว ดื่มกินน้ำนมของแม่วัวนม ๑๖ ตัวนั้น หลังจากนั้นนางก็จะนำแม่วัวนมทั้ง ๘ ตัว มารีดเอาน้ำนม และนำน้ำนมมาเคี่ยวจนข้นเป็นนมข้นหวาน ทำให้มีรสอร่อยมาก เรียกว่า "ขีรปริวรรต" และในวันที่นางให้รีดนมนั้น ลูกวัวไม่กล้าเข้าใกล้แม่วัวเหล่านั้นเลย พอนางสุชาดาน้อมภาชนะเข้าไปเท่านั้น น้ำนมก็หลั่งออกมาจากเต้านมของแม่วัวเอง นางเห็นดังนั้นก็เกิดความปิติยินดีอย่างยิ่ง เมื่อได้แล้วจึงเทน้ำนมลงใส่ภาชนะใหม่ยกขึ้นตั้งบนเตา
ในวันที่นางปรุงข้าวมธุปายาสนั้น ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และ ท้าวเวสวัณ ก็มายืนอารักขาก้อนเส้าเตาปรุงทั้ง ๔ ทิศ รวมทั้ง ท้าวมหาพรหม ก็นำทิพย์เศวตฉัตรมากางกั้นข้างบนกระทะเพื่อเป็นสิริมงคล และป้องกันธุลีบนนภากาศ สมเด็จอมรินทราธิราช เสด็จลงมาก่อไฟใส่ฟืน เทวดาเจ้าในหมื่นโลกธาตุ ก็นำทิพยโอชามารวมใส่ลงไปในหม้อปรุงนั้น ประชาชนในทวีปทั้ง ๔ และทวีปน้อย ๒,๐๐๐ ห้อมล้อม ต่างเป็นดังจักรบีบรวงผึ้งอันอุดมด้วยน้ำผึ้งใส่เข้าไปในภาชนะที่กำลังปรุงนั้น เมื่อทำดังนี้แล้วก็ได้เป็นข้าวมธุปายาส เพื่อนำไปถวายแด่พระภิกษุต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

บทความ