ก้าวสำคัญของคานธี กับ เส้นทางได้เอกราชของอินเดีย
อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ประเทศนี้มีความแตกต่างกันเองทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งๆ ที่เป็นคนอินเดียวด้วยกัน (แม้เผ่าพันธุ์จะแตกต่างกัน) การแยกชั้นวรรณะตามระบบฮินดูซึ่งแพร่หลายไปทั่วทำให้คนรวมกันไม่ได้จนแล้วจนรอด กษัตริย์ในสมัยโบราณของอินเดียถ้าไม่แข็งแกร่งจริงก็เอาไม่อยู่ แต่เหตุการณ์มาประจวบกันเมื่ออังกฤษออกล่าอาณานิคม โดยมีบริษัท อีสต์อินเดียของอังกฤษเข้าไปทำการค้าขายกับอินเดียก่อน ทำไปทำมาพอเห็นช่องทางก็ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปในกิจการต่างๆ หลังรัชสมัยของพระเจ้าโอรังเซป ค.ศ.1707 ค่อยๆ ดูดกลืนไปเรื่อยๆ จนเกิดกบฏซีปอย ในปี ค.ศ.1858 อินเดียกลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษโดยตรงที่สุด อินเดียอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษเป็นเวลานานพอสมควร แม้คนอินเดียจะไม่พอใจคนต่างชาติมาปกครอง แต่ก็ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นต่อสู้อย่างจริงจัง ซึ่งสาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจากเหตุผลดังกล่าวด้วย
ประมาณปี ค.ศ.1920 เริ่มมีการเคลื่อนไหวของพวกชาตินิยมอินเดียเกิดขึ้น ขบวนการดังกล่าวนำโดย โมหันทาส การามจัน คานธี นั่นเอง คานธีนั้นเป็นชาวอินเดียที่มีความรุ้ เนื่องจากไปเคยไปศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษมาก่อน เขาได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของคนในโลกมามากก็เลยเกิดความคิดอยากต่อสู้ และอยากเห็นประเทศอินเดียเป็นอิสระ เขากลับมาอินเดีย ไต่เต้าทางการเมืองจนถึงระดับได้เป็นผู้นำคองเกรส
คานธีได้หาวิธีการต่อสู้กับอังกฤษ เขาเลือกวิธีต่อสู้แบบสงบ คือ “การไม่ให้ความร่วมมือ” เขาต่อสู้สำเร็จหลายเรื่อง แต่เนื่องจากความร่วมมือร่วมใจของชาวอินเดียไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้การปกครองตนเองอย่างที่คานธีสัญญาไว้ไม่มีท่าทางว่าจะเป็นจริงได้เสียที การต่อสู้จากแรงชาวอินเดียก็แผ่วหาย คานธีเลยถูกอังกฤษจับเข้าคุกในปี 1922
ขบวนการนักการเมืองผู้รักชาติเริ่มเดือดร้อน พวกเขาต้องหาทางเจรจาเอาตัวคานธีออกจากคุก โดยต้องยอมตกลงให้ความร่วมมือกับอังกฤษใหม่ อังกฤษยอมปล่อยตัวผู้นำการต่อต้านออกมาจากคุกเหมือนกัน แต่ต้องแลกกับการจำกัดสิทธิของชาวอินเดียบางอย่าง เพราะตั้งแต่ปี 1922 – 1929 ขบวนการผู้รักชาติเหล่านี้ก็ยังคงต่อสู้อย่างเงียบๆ ต่อไป เพราะตระหนักว่าปัญหาหนักมาก ไม่ใช่เรื่องการเรียกร้องกดดันต่อรัฐบาลอังกฤษฝ่ายเดียว แต่ต้องพยายามทำให้คนอินเดียเองร่วมมือกันต่อสู้ด้วย
ผู้นำที่มีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอีกคนหนึ่ง คือ เยาหราล เนห์รู ผู้รักชาติ ที่ร่วมขบวนการต่อสู้กับคานธี ความเคารพนับถือที่เข้าได้รับทำให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นหน้าพรรคอินเดียเนชั่นแนลคองเกรส ในปี 1929 เนรูห์นี่เองทีประกาศความต้องการอิสรภาพชัดเจน ไม่เกรงกลัวใคร ด้วยคำประกาศนี่เองที่ทำให้คานธีก็ออกโรงมาเรียกร้องให้คนอินเดียต่อสู้กับอังกฤษด้วยวิธีอหิงสาอีก บังเอิญว่าปีนั้นมีการว่างงานอย่างมากมายในอินเดีย รวมทั้งการกดดันจากโลกภายนอก ความพยายามของคานธีเลยเป็นหมัน
แต่ขบวนการผู้รักชาติก็ยังไม่ยอมแพ้ ยังพยายามต่อไป พวกเขาจัดให้มีการประชุมระหว่างผู้นำอินเดียกับอุปราชของอังกฤษ ลอร์ด เออวิง แต่ตกลงอะไรกันไม่ได้ การประชุมล้มเหลวในวันที่ 26 มกราคม 1930 พรรคคองเกรสของอินเดียดื้อที่จะใช้โอกาสนี้อ้างสิทธิปกครองตนเอง และหนุนให้เนรูห์เป็นประธานาธิบดีคนแรก
พรรคคองเกรสยืนหยัดให้มีการต่อสู้ต่อไปอีก คราวนี้คานธีเล็งเห็นว่าภาษีเกลือของอังกฤษไม่เป็นธรรม รัฐผูกขาดการค้าเกลือ และบังคับให้ประชาชนทุกคนต้องซื้อเกลือที่ผลิตจากรัฐ ทั้งๆ ที่ประชาชนสามารถทำเกลือใช้เอง สำหรับตัวคานธี เขาออกเดินทางด้วยเท้าเป็นระยะทาง 240 ไมล์ ไปยังแดนดี ชายฝั่งทะเลที่ใกล้บอมเบย์มากที่สุด เพื่อไปตักเอาน้ำทะเลมาทำเกลือ
ตอนแรกๆ รัฐบาลเดลฮีไม่ได้ใส่ใจการกระทำของคานธีเท่าไหร่ แต่ยิ่งนานวันเข้า ขบวนเดินทางของเขากลับยิ่งมีสมาชิกมากขึ้นทุกที หนังสือพิมพ์ของอินเดียพากันประโคมข่าวของพวกเขาแทบทุกย่างก้าวไปยังชาวอินเดียทั้งในและนอกประเทศ และโดยตลอดเส้นทางนั้น ชาวพื้นเมืองที่รับราชการอยู่กับรัฐบาลอังกฤษถึงกับยอมลาออกจากราชการเพื่อเข้าร่วมเดินขบวน นับว่าเป็นครั้งแรกที่คานธีสามารถรวบรวมเอาชาวอินเดียซึ่งมีศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างกันเข้ามาร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้เป็นอย่างดี ผลของการเดินขบวนไปเอาเกลือก็คือ ทั้งคานธี และเนห์รู โดยจับมาขัง ฐานทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง
ผู้นำคองเกรสได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมกราคม 1931 ทั้งสองคนเข้าพบอุปราชเพื่อหาข้อตกลง มีการทำสนธิสัญญาเดลฮีขึ้น เป็นจุดจบของคำชักชวนให้ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่ก็ยังไม่ใช่จุดจบของความตึงเครียดในอินเดีย คองเกรสยังกดดันเพื่ออิสรภาพอย่างต่อเนื่อง
ครั้นถึงปี 1935 การเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพก็เกือบมาถึงความสำเร็จ โดยมีร่างพระราชบัญญัติของรัฐสภาอินเดียขึ้น แผ้วถางทางให้มีการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ แต่ต้องมาสะดุดหยุดลงเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 (1939 – 1945)
นับเป็นช่วงเวลาที่อินเดียประสบความลำบากจริงๆ เพราะอินเดียไม่พอใจนโยบายของคนอังกฤษในระหว่างสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการเผาทำลายทรัพย์สินของคนอินเดียเพื่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์โดยไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้ หรือแบ่งแยกเส้นทางการถอนตัวออกจากพม่าระหว่างคนอังกฤษและคนอินเดีย โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนอินเดีย ทำให้อินเดียดำเนินการขับไล่อังกฤษออกจากอินเดียหลังจากที่ขบวนการรักชาติพยายามต่อสู้ เพื่อการปกครองตนเองมานาน จนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อังกฤษก็ให้เอกราชแก่อินเดีย เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1947
แต่การได้รับเอกราชก็เป็นปัญหาต่อมา เพราะคนอินเดียแบ่งแยกกันเองตามการนับถือศาสนาอย่างที่กล่าวไว้แล้ว ศาสนาใหญ่ๆ ที่คนไม่สามารถลงรอยกันได้คือ ฮินดู กับ มุสลิม เมื่อได้รับเอกราชเข้าจริงๆ กลายเป็นว่าแผ่นดินที่เคยเป็นอินเดีย ต้องการจะแยกตัวออกจากกัน การโต้เถียงระหว่างสองฝ่ายเริ่มลุกลาม คานธีผู้หวั่นว่าจะมีการสู้รบระหว่างผู้คนในศาสนาที่แตกต่างกันทั้งสองก็ได้เริ่มอดอาหารประท้วง เมื่อเดือนมกราคม 1948 เป็นเหตุให้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ไม่ใช่เพราะยอมอดอาหาร กลับกลายเป็นว่าที่เขาเสียชีวิตเนื่องจากถูกเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่คลั่งศาสนาฮินดูใช้ปืนยิงจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม ต่างหาก
การเสียชีวิตของคานธี ทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่เขาทำให้กับอินเดียนั้นยิ่งใหญ่มาก คานธีรู้ว่าอินเดียไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจของอังกฤษได้ โดยการยกกองทัพเข้าต่อตี เขาจึงเลือกวิธีการต่อสู้อย่างสงบ อันเป็นวิธีที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของจิตใจเป็นอย่างมาก แม้กระบวนการต่อสู้ของเขาจะไม่สามารถทำให้คนอินเดียรวมกันได้อย่างแท้จริงก็ตาม.