วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

หน้าผากสาวอินเดีย

จุดแดงที่แต้มกลางหน้าผากเรียกว่า "ติกะ" (Tika) แต่ในบางครั้งอาจเรียกว่า "บินดิ" (Bindi) ซึ่งหมายถึงจุดที่เจิมบริเวณแสกผม โดยใช้นิ้วป้ายขึ้นไปตามรอยแสกผม ปัจจุบันจุดบนหน้าผากสตรีอินเดีย อาจเรียกปนกันทั้ง ติกะ และ บินดี
สตรีในศาสนาพราหมณ์ฮินดูแต่โบราณนานมา เมื่อแต่งงานแล้วจะแต้มจุดแดงที่กลางหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีพันธะด้านการครองเรือน ในฐานะผู้เป็นภรรยา ผู้เป็นแม่ สตรีอินเดียถือสามีเสมือนเทพ จะให้ความรักความเคารพอย่างสูง การเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้ว พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาว เป็นการประกาศว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณี
สตรีชาวอินเดียจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ และจะต้องลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต
ในกรณีที่เลิกร้างกัน สตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อเป็นการเลิกร้างโดยคำสั่งของศาล
หากสตรีผู้นั้นลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
จะถือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ
โดยทั่วไปจุดสีแดงนี้จะทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียด
แล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรก
เพราะวัวเป็นพาหนะของพระเจ้า และกินพืชเป็นอาหาร
ผงสีนี้เรียกว่า "ผงวิภูติ" มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจมีการนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้
 
ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่า
แต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีรูปแบบจุดอื่น ๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ
หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์
ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติกเกอร์เพื่อสะดวกใช้
มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานเพียงอย่างเดียว
ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลาไหว้พระ
พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น
คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่า
จุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย
จึงมักแต้มจุดแดงเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย เช่นนางเอกในละคร
แม้ยังเป็นสาวเป็นแส้ ก็แต้มจุดแดงกับเขาด้วย
นี่เป็นเรื่องของการนำมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพวกพราหมณ์ฮินดู
แต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดูแท้ ๆ อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้
ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้ว
อาจเป็นการห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้
ที่มา 108 ซองคำถาม

บทความ