วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชีวิต คือ สัมพันธภาพระหว่างทุกอย่างกับทุกอย่าง (ชีวิตแนวจิตวิทยา)

       ที่เรียกว่า "ชีวิต" นั้น เมื่อก่อนนี้เรามักจะเข้าใจว่า ชีวิต เป็นเรื่องของสเปิร์มกับโอวุลตามหลักชีวะ แต่ถ้าเราศึกษาแนวคิดตะวันออกอย่างลึกซึ้ง พระพุทธศาสนาบ้าง พราหมณ์บ้าง แม้แต่อิสลาม หรือคริสเตียน คำว่า "ชีวิต" นั้น กินเนื้อที่กว้างมากมาก คือ มันไม่ใช่เฉพาะตัวเรา เรามักเข้าใจว่า ชีวิต คือตัวเราล้วน ๆ แต่คำว่าชีวิตนั้นแปลว่า "สัมพันธภาพ" หมายถึงการดำรงอย่ร่วมกันของต้นไม้ใบหญ้า แม่น้ำลำธาร ภูเขาสรรพสัตว์ แล้วก็สิ่งที่เรียกว่า "คน" คนอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีทั้งหมดที่ว่านี้
       ทีนี้พอเราเข้าใจว่า ชีวิต เท่ากับแค่ตัวเรา โครงความคิดก็แคบ และคลาดเคลื่อนไปเสียแล้ว ชีวิตต้องหมายถึง สัมพันธภาพระหว่างทุกอย่างกับทุกอย่าง อันนี้เราได้มาจากความเข้าใจในเรื่องอิทัปัจจยาในพระพุทธพุทธศาสนา คำว่า "ชีวิต" ไม่ได้สิ้นสุดที่ตัวเรา แต่ "ชีวิต" หมายถึง ตัวเรา บวกกับทุกอย่าง ทั้งอดีตที่ไกลโพ้น คือบรรพบุรุษ และก็สิ่งที่อยู่ไกลโพ้น เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ซึ่งถ้าปราศจากดวงอาทิตย์ จะมีชีวิตได้อย่างไร ไม่มีความร้อนประมาณนั้น เราจะมีชีวิตได้อย่างไร ไม่มีหยดน้ำขนาดนั้น เมฆขนาดนั้น เราจะมีชีวิตได้อย่างไร ผมคิดว่า "ชีวิต" คือความลงตัว ของสิ่งที่เรียกว่า "ธรรมชาติ" มากกว่า
       ถ้าคำว่า "ชีวิต" ขยายกว้างขวางออกไปสุดลูกหูลูกตา นอกเหนือไปจากคำว่า "ตัวเรา" ที่นี้ละ เราจะต้องอยู่กับมัน อยู่อย่างเข้าใจว่า เรา คือ มัน มัน คือ เรา ดำรงอยู่ด้วยกันอย่างอาศัยกันและกัน จึงจะเป็นการอยู่กับชีวิตทั้งหมดอย่างสอดคล้องกลมกลืนและก็สมดุล แต่ที่ผ่านมานั้น เราเข้าใจว่า "ชีวิต" คือตัวเรา กว้างออกไปนิดหนึ่งคือครอบครัวเรา ประเทศเรา หรือสปีชีส์เรา เผ่าพันธุ์เรา มนุษย์เราก็เลยรู้สึกว่า "สิ่งสำคัญที่สุดในโลก คือ ตัวมนุษย์" ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแม่น้ำลำธารภูเขาเลย แล้วเราก็เลยใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้มาปรนเปรอ "ความเป็นมนุษย์" ของเรา
จาก "ไปสู่การศึกษาที่แท้"
ดร.โสรีช์ โพธิ์แก้ว
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความ