วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตุ๊กตาล้มลุก


ประธานาธิบดี เอบราแฮม ลิงคอล์น ของสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษของประเทศคนหนึ่งซึ่งชาวอเมริกันยกย่องชื่นชมในสติปัญญาเป็นอันมาก แม้ท่านจะล่วงลับไปนานนับได้หลายสิบปีแล้ว แต่เมื่อมีการสำรวจความนิยมที่ประชาชนมีต่อประธานาธิบดีของเขาเมื่อไร ชื่อของอดีตประธานาธิบดีลิงคอล์นก็ยังคงติดอันดับหนึ่งในสิบของผู้นำในดวงใจคนอเมริกันอยู่นั่นเอง


เส้นทางแห่งความสำเร็จของประธานาธิบดีลิงคอล์นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนกับผู้นำคนสำคัญของโลกคนอื่น ๆ แต่ยิ่งศึกษาจะยิ่งพบว่าท่านลำบากกว่าผู้นำของโลกคนอื่นอีกหลายเท่าตัวด้วยซ้ำไป

เริ่มแรกก็เกิดมาในตระกูลที่มีความยากจนเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ บ้านเคยอยู่อู่เคยนอนก็อยู่ในเขา การศึกษาก็เรียนแบบช่วยตัวเองมาโดยตลอด แต่อาศัยว่าเป็นหนอนหนังสือตัวยงจึงปราดเปรื่องกว่านักเรียนในระบบหลายเท่าตัว การที่ท่านเกิดมาเป็นคนจนนั่นเองที่ทำให้ท่านไม่ยอมงอมืองอเท้ารอให้พระเจ้าเอาราชรถมาเกย แต่กลับเป็นผู้เดินเข้าหาโอกาสด้วยตนเองอย่างไม่หวั่นเกรงอุปสรรคที่ดักรออยู่ข้างหน้า

อดีตประธานาธิบดีลิงคอร์นฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย บ่อยครั้งที่เจียนอยู่เจียนไปเพราะถูกเข้าใจผิด ถูกลอบฆ่า ถูกโกง ถูกฟ้องล้มละลาย แต่ท่านเป็นชายชาติเสือ ถือคติเหมือนชาวจีนไต้หวันที่ชอบสะสม "ตุ๊กตาล้มลุก" ของท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ คือ

ล้มเพื่อลุกขึ้นสู้ ไม่ใช่ล้มแล้วหลับไม่ตื่น

ด้วยปรัชญาชีวิตแบบล้มแล้วลุก ท่านจึงทนต่อความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า และทุกครั้งที่ล้มท่านก็ซึมซับเก็บรับเอาบทเรียนมาพัฒนาตัวเองได้ทุกครั้งเช่นกัน ยิ่งล้มจึงยิ่งฉลาด ยิ่งเจ็บจึงยิ่งแกร่ง จนท่านกลายเป็นนักล้มผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งในภายหลังท่านได้นำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีได้อย่างวิเศษ

เส้นทางของนักล้มผู้ยิ่งใหญ่มีผู้รวบรวมไว้พอเป็นตัวอย่างได้ดังนี้(หนังสือ Chicken Soup for the Soul หรือชื่อไทยคือ พลังแห่งชีวิต หน้า 210)

1816 ครอบครัวของเขาถูกไล่ออกจากบ้าน เขาต้องทำงานช่วยครอบครัว

1818 แม่ของเขาเสียชีวิต

1831 ล้มเหลวทางธุรกิจ

1832 สมัครเป็นวุฒิสมาชิก-แพ้

1832 ตกงาน ต้องการเข้าโรงเรียนกฏหมาย แต่ไม่สำเร็จ

1833 ยืมเงินเพื่อนทำธุรกิจแต่ล้มละลายในตอนสิ้นปี เขาต้องทำงานใช้หนี้เป็นเวลานานถึง 17 ปี

1834 สมัครวุฒิสมาชิกรัฐอีกครั้ง-ชนะ

1835 หมั้นและเตรียมแต่งงาน แต่คนรักเสียชีวิตเสียก่อน หัวใจของเขาแตกสลาย

1836 เกิดอาการประสาทและต้องพักเป็นเวลา 6 เดือน

1838 พยายามชิงตำแหน่งโฆษกสภารัฐ-แพ้

1840 ลงสมัครเลือกตั้ง-แพ้

1843 สมัครสมาชิกคองเกรส-แพ้

1846 สมัครสมาชิกคองเกรสอีกครั้ง คราวนี้ประสบความสำเร็จ ได้ไปวอชิงตันและได้งานดี

1848 ลงสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกคองเกรสอีกครั้ง-แพ้

1849 สมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลที่ดินที่บ้านเกิดของเขา-ถูกปฏิเสธ

1854 สมัครเป็นวุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา-แพ้

1856 พยายามให้ได้รับการนำเสนอชื่อเป็นรองประธานาธิบดีในการประชุมพรรค ได้เสียงสนับสนุนน้อยกว่า 100 เสียง

1858 สมัครเป็นวุฒิสมาชิกประเทศอีกครั้ง-ล้มเหลวตามเคย

1860 เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

ความล้มเหลวจึงเป็นส่วนผสมของชีวิตซึ่งขาดไม่ได้ คนที่ไม่เคยล้มเหลวคือคนที่ไม่เคยทำอะไร ด้วยข้อเท็จจริงเช่นนี้ คนที่กำลังคิดการใหญ่ทุกคนจึงมองความล้มเหลวด้วยสายตาที่เป็นบวก เพราะเขารู้อยู่แก่ใจว่า ความล้มเหลวเป็นฝาแฝดกับความสำเร็จ

ความล้มเหลวกับความสำเร็จเหมือนด้านหัวและด้านก้อยของเหรียญเดียวกัน เราหยิบด้านหนึ่งขึ้นมา อีกด้านหนึ่งก็ติดมาด้วยอย่างแน่นอน

ข้อสำคัญคือ เราจะเลือกหยิบด้านที่เราต้องการขึ้นมาและรักษาให้ด้านนั้นอยู่กับเราได้นานแค่ไหนเท่านั้นเอง

ที่มา บทเรียนจากความล้มเหลว หนังสือ ธรรมะพารวย โดย ท่าน ว.วชิรเมธี
รูปภาพ wikipedia

บทความ