เมื่อวานที่ผ่านมานี้เป็นวันพิจารณาคดีของศาลต่อข้อพิพาทระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม กรณีเมืองศักดิ์สิทธิ์อโยธยา (Ayodhya) ในรัฐอุตตรประเทศ พื้นที่ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่ยืดเยื้อมานานนับศตวรรษ เดิมพื้นที่นั้นเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 16 (ค.ศ. 1528) ต่อมาถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงเผาทำลายลงในปี ค.ศ. 1992 ทั้งนี้ชาวฮินดูต้องการที่จะสร้างโบสถ์พระรามขึ้นแทนที่ ซึ่งนำไปสู่การจราจลระหว่างฮินดูและมุสลิมจนมีผู้เสียชีวิตถึง 2000 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ซึ่งทั้งสองกลุ่มศาสนาต่างอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ดังกล่าว
และนับตั้งแต่อินเดียและปากีสถานแยกเป็นสองประเทศตามความแตกต่างทางศาสนาในปี ค.ศ. 1947 ความขัดแย้งนี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ชาวฮินดูกล่าวหาว่า มัสยิดบาบรี (Babri Masjid) ซึ่งสร้างโดยจักรพรรดิบาบาร์แห่งราชวงศ์โมกุล ในช่วงที่อิสลามเข้าปกครองประเทศนั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นโบสถ์ฮินดูเดิม ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระราม (Lord Rama) เทพเจ้าแห่งการสงครามของชาวฮินดู ซึ่งได้ถูกทำลายแล้วสร้างมัสยิดขึ้นมาแทนชื่อว่า มัสยิดบาบรี ต่อมานักบวชฮินดูได้ยื่นขอสร้างวัดฮินดูด้านหน้าสุเหร่าดังกล่าวแต่ก็ถูกปฏิเสธ นับแต่นั้นมาชาวฮินดูและมุสลิมต่างก็มีการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันเพื่อแย่งกรรมสิทธิ์เหนือศาสนสถานนั้น
โดยก่อนวันตัดสินนั้นก็ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มศาสนาทั้งสองกลุ่ม ทางรัฐบาลอินเดียจึงต้องออกประกาศผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ขอร้องสาธารณชนให้เคารพกฏหมายและยอมรับต่อการตัดสินของศาล รวมทั้งมีการเกณฑ์กองกำลังความมั่นคงกว่า 200,000 คน กระจายกันทั่วอินเดียตอนเหนือ โดยเฉพาะบริเวณศาลที่ทำการตัดสิน เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และรักษาความสงบ นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ประจำการทั่วเมืองอโยธยาอย่างเข้มงวด รวมทั้งสถานที่ที่อาจเกิดเหตุปะทะอื่นๆ อีก 32 แห่งทั่วอินเดีย โดย 4 แห่งอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ
และวันพฤหัสบดีวานนี้ศาลสูงอัลลาฮาบัด ของรัฐอุตตรประเทศจะพิพากษาในสามประเด็นสำคัญว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ประสูติของพระรามตามความเชื่อของชาวฮินดูจริงหรือไม่? มัสยิดบาบรีสร้างขึ้นหลังจากการรื้อถอนโบถส์ฮินดูหรือไม่? และมัสยิดบาบรีสร้างขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามหรือไม่? ซึ่งคดีนี้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา และการเป็นเจ้าภาพกีฬาเครือจักรภพที่จะเริ่มในกรุงเดลี ในวันอาทิตย์ที่ 3 นี้ด้วย ส่้งผลให้ต้องมีการปิดทำการหน่วยงานราชการต่างๆ และเอกชนครึ่งวัน ประชาชนทั่วไปต้องรีบกลับบ้านและงดออกนอกสถานที่ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวานนี้
และจากการพิจารณาศาลเมื่อเย็นวานนี้ได้แถลงว่า มัสยิดบาบรีสร้างขึ้นโดยคำสั่งของพระเจ้าบาบาร์ แต่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์โดยตรงว่าพื้นที่ก่อสร้างนั้นเป็นของผู้ใดในยุคที่สร้างนั้น และไม่มีวัดฮินดูใดถูกรื้อถอนเพื่อสร้างมัสยิดแห่งนี้ มัสยิดสร้างขึ้นเหนือซากปรักเดิมของวัดที่พังทลายลงนานมาแล้วก่อนการก่อสร้างมัสยิด และวัสดุบางอย่างถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างมัสยิดด้วย
โดยชาวฮินดูเชื่อว่าในพื้นที่กว้างใหญ่ที่พิพาทกันนี้ มีสถานที่เล็กๆ บริเวณใดบริเวณหนึ่งในพื้นที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของพระราม เป็นแต่เพียงความเชื่อที่ไม่อาจระบุพื้นที่จำเพาะเล็กๆ ในบริเวณกว้างใหญ่ได้ และหลังจากการก่อสร้างมัสยิดขึ้น ชาวฮินดูก็เริ่มระบุถึงพื้นที่ที่พิพาทกันนี้ว่าเป็นสถานที่ประสูติโดยแท้จริงของพระราม
ผู้พิพากษาทั้งสามแห่งบัลลังก์ลัคเนาว์ ศาลสูงอินเดีย ตัดสินว่าบริเวณโดยรอบศาสนสถานที่เป็นข้อพิพาทนั้นควรแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับชาวฮินดู อีกส่วนสำหรับชาวมุสลิม และส่วนที่สามสำหรับ Nirmohi Akhara ลัทธิหนึ่งของศาสนาฮินดูซึ่งเป็นคู่กรณีในการฟ้องร้องคดีนี้
ก็หวังว่าคำตัดสินของศาลคงจะสร้างความพอใจให้กับทั้งสองฝ่ายแม้จะไม่เต็มร้อยนัก แต่ก็เชื่อว่าเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาแก้ไข และก็หวังใจว่าคงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงหลังจากนี้อีก ไม่อย่างนั้นคดีนี้คงไม่มีวันยุติอย่างแน่นอน