"ขึ้นคาน" เป็นสำนวน หมายความถึงหญิงที่มีอายุเลยวัยสาวแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน เป็นคำที่มีนัยตำหนิ เพราะแต่โบราณมานิยมให้ผู้หญิงแต่งงานเพื่อให้มีผู้ดูแลและป้องกันภัย ไม่โดดเดี่ยว
ครั้งอดีต วิถีไทยใกล้ชิดแม่น้ำลำคลอง บ้านเรือนส่วนใหญ่หันหน้าหาสายน้ำมีเรือเป็นพาหนะสำคัญพาสัญจรไปมา ครั้นเมื่อใช้นานเข้าเรือมีอันเกิดชำรุดเสียหายต้องซ่อม ยามจะซ่อมต้องยกขึ้นมาบนบกซึ่งทำที่รับเรือรอไว้แล้ว ที่รับเรือนั้นเรียกว่า "คาน"
อาศัยอรรถาธิบายจากขุนวิจิตรมาตรา ปราชญ์ภาษาไทย ท่านว่า สำนวน "ขึ้นคาน" มาจากเรียกเรือที่ยกขึ้นพาดไว้บนคานเพื่อซ่อมรอยรั่ว ยาชัน ทาน้ำมันใหม่ ในตอนนั้นเรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ ค้างเติ่งอยู่บนคาน เรียกว่าขึ้นคาน
ต่อมาจึงนำคำว่า ขึ้นคาน เป็นสำนวนเรียกสตรีผู้ถึงวัยมีลูกมีผัวแล้วแต่ยังเล่นเนื้อเล่นตัว ไม่ยอมตกร่องปล่องชิ้นมีคู่เสียที จึงถูกนำไปเปรียบเทียบกับเรือ
ถ้าเรือรั่วหรือชำรุดเสียหาย เจ้าของนำขึ้นมาซ่อมบนบก ก็ต้องทำคานสำหรับรองเรือไว้ เรือที่ขึ้นคานจึงอยู่ห่างน้ำ เมื่อเรือห่างน้ำก็เหมือนเสือห่างป่าจะมีคุณค่าอันใดคนไทยแต่โบราณ จึงนำเอาคำว่าขึ้นคานมานิยามหญิงที่ยังไม่แต่งงานจนล่วงเลยวัยสาวไปแล้ว
ที่มา http://gotoknow.org/blog/789/130548