การเริ่มสภาพของบุคคล
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตราที่ 15 ได้ระบุไว้ว่า “สภาพบุคคลเริ่มต้นเมื่อคลอดแล้วอยู่เป็นทารก สิ้นสุดลงเมื่อตาย” เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วก็มีสิทธิและหน้าที่ตามที่กำหนด เช่น สิทธิการรับมรดก
บุคคลตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ บุคคลธรรมดา กับนิติบุคคล
1. บุคคลธรรมดา คือ คนที่มีชีวิต หรือคนทั่วไป
1.1 การคลอดหมายถึง การที่ทารกออกมาจากครรภ์มารดาทั้งหมดโดยจะตัดสายรกแล้วหรือไม่ก็ได้
1.2 การอยู่รอดเป็นทารก หมายถึง การที่ทารกนั้นแสดงอาการว่าจะมีชีวิตอยู่เช่น หายใจ ร้อง ดิ้น เป็นต้นทารกที่คลอดออกมามีสภาพบุคคลแล้วย่อมประกอบไปด้วยสิทธิ และหน้าที่ตาม กฎหมาย ในทางทรัพย์ย่อมถือว่าสิทธิเกิดขึ้นโดยย้อนไปตั้งแต่วันแรกปฏิสนธิ
การสิ้นสภาพบุคคล
การสิ้นสภาพบุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1. โดยธรรมชาติ หรือตาย
2. โดยผลของกฎหมาย หรือสาบสูญโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
2.1 กรณีปกติ บุคคลใดหายไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ ไม่มีใครรู้ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน
2.2 กรณีพิเศษ ให้ลดลงเหลือ 2 ปี คือ
2.2.1 นับตั้งแต่สงครามสิ้นสุดลงถ้าบุคคลนั้นอยู่ในสงครามและหายไป
2.2.2 นับตั้งแต่ที่ยายพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง สูญหาย หรือถูกทำลาย
นับตั้งแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน ข้อ 2.2.1 หรือ ข้อ 2.2.2 ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น เช่น การปฏิวัติต่างๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นต้น
เมื่อครบองค์ประกอบข้างต้น และผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนสาบสูญ ศาลก็จะสั่งให้บุคคลนั้นกลายเป็นคนสาบสูญ
ผลของการที่ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ คือ ให้ถือว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ข้างต้น (คือ 2 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่กรณี)