วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อินเดียก็มีกะ(เทย)เขาเหมือนกัน

เป็นผู้หญิงก็ไม่ใช่ ผู้ชายก็ไม่เชิง ฮิจระ (Hijra) จึงเป็นคำที่ใช้เรียก ผู้ชายโดยลักษณะทางกายภาพภายนอก แต่มีจิตใจเป็นหญิง และแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้หญิง คำว่า “ฮิจระ” เป็นภาษาอูรดู (Urdu-ภาษาราชการหนึ่งใน 23 ภาษาของอินเดีย) และมักจะแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยใช้คำว่า “eunuch” หรือ “hermaphrodite” ซึ่งหมายถึง “ขันที” หรือ “กะเทย”

แต่ในภาษาอูรดูจริงๆ แล้วเป็นคำที่มีความหมายในทางดูถูกดูหมิ่น นักเคลื่อนไหวชาวฮิจระและองค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งพยายามใช้คำว่า “คนข้ามเพศ (transgender)” มากกว่า และก็ได้มีความพยายามที่จะรณรงค์ให้มีการยอมรับชาวฮิจระในฐานะ “เพศที่สาม (third gender)” ผู้ที่ไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง นับตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

ในขณะที่การเป็นเพศที่สาม ชาวฮิจระเชื่อว่าเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานมาให้ ไม่สามารถเลือกได้ รวมทั้งวิถีการดำรงชีพด้วย ชีวิตของเพศที่สามในอินเดียมีความยากลำบากกว่าหลายประเทศที่เปิดรับในเรื่องนี้มาก คนอินเดียปัจจุบันไม่ยอมรับความเป็นเพศที่สามโดยเฉพาะในครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนบ้าน จึงทำให้หลายคนต้องซ่อนเร้นตัวตนของตนเอง หรือไม่ก็หนีออกจากครอบครัว หรือถูกขับออกจากครอบครัว

ชาวฮิจระจึงมักจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเกื้อกูลช่วยเหลือกัน กลุ่มหนึ่งมีราว 5 คนหรือมากกว่านั้น โดยมี “กูรู” เป็นผู้นำ และมีกฏเกณฑ์ภายในกลุ่มของตนเอง และมีการสอนร้องเพลง เต้นรำ และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ

แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถหางานทำได้เพราะสังคมไม่ยอมรับ งานที่สามารถทำได้ คือ การอวยพรในวันเกิดของเด็กเกิดใหม่ การเต้นรำในงานแต่งงาน ซึ่งเป็นงานที่เป็นที่ยอมรับและให้เกียรติชาวฮิจระ อีกทั้งการรวมตัวเป็นกลุ่มไปขอเงินตามที่ต่างๆ ร้านค้า หรือแม้แต่บนรถไฟ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ผิดกฏหมาย เพราะเป็นการขู่กรรโชกทรัพย์ประเภทหนึ่ง

นอกจากนั้นก็คือ การขายบริการทางเพศ ซึ่งชาวฮิจระมักถูกกระทำรุนแรงทางเพศในที่สาธารณะ ในสถานีตำรวจ ในคุก อยู่เสมอ ทั้งยังขาดไร้ซึ่งสิทธิในด้านสุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัย อาชีพ กฎหมาย และระบอบการปกครองอื่นที่ไม่สามารถระบุพวกเขาได้ว่าเป็นเพศใด

พวกเรามักพบเห็นชาวฮิจระได้ทั่วไปตามท้องถนน สถานีรถไฟ และที่สาธารณะต่างๆ ที่ทำการขอเงินจากผู้คนที่สัญจรไปมา โดยเฉพาะผู้ชาย ถ้าถูกปฏิเสธ ชาวฮิจระก็จะพยายามทำให้ผู้ชายที่ตนขอเงินนั้นรู้สึกขวยอายต่อหน้าคนอื่นๆ โดยกระทำการลามกต่างๆ อย่างเช่นการใช้มือล้วงจับอวัยวะเพศของตนแล้วเอามาป้ายที่หน้าคนคนนั้น หรือใช้ภาษาที่หยาบคาย หรือล่วงล้ำทางเพศ บ้างก็ข่มขู่ที่จะโชว์ของลับให้ดูต่อหน้าถ้าไม่บริจาคเงินให้

ชาวฮิจระในอินเดียจึงมีภาพลักษณ์ในสองด้านที่ตรงกันข้ามกัน ด้านหนึ่งก็ถูกสังคมรังเกียจ ไม่ยอมรับ และสบประมาทด้วยคำเรียกต่างๆ อีกด้านกลับได้รับการยกย่องให้เกียรติเชิญมาอวยพรในวันเกิดทารกเพศชาย หรือมาแสดงดนตรี ร้องเพลง เต้นรำ ในงานแต่งงาน ซึ่งเชื่อว่าจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัวนั้น

บทความ