วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นวราตรี

นวราตรี – ทุรคาบูชา
ตามปฏิทินฮินดูในรอบปีมีเทศกาลงานสำคัญต่างๆ เริ่มจากขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า ไปจนถึงแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ อยู่ ๓๖ งาน หากงานที่ชาวฮินดูในสยามประเทศเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่จนเป็นที่รู้จักกว้างขวาง คืองานนวราตรี

งานนวราตรีจัดขึ้นปีละสองครั้ง คือในช่วงปีใหม่ (ขึ้น ๑ – ๙ ค่ำ เดือนห้า ) และในช่วงกลางปี (ขึ้น ๑ -๙ ค่ำ เดือน ๙ เรียกว่า สรัททิยะนวราตรี (Shardiya Navaratri) ความเชื่อเก่าแก่ของชาวอินเดียนั้นถือกันว่าในหนึ่งปีประกอบไปด้วยฤดูร้อน และฤดูหนาว ฤดูกาลที่ผลัดเปลี่ยนส่งผลต่อร่างกายและจิตใจมนุษย์ จึงเกิดการบวงสรวงเทพเจ้าผู้คุ้มครองเพื่อขอพลังแห่งชีวิต
นวราตรี: พลังอำนาจแห่งอิสตรี
เทพเจ้าในศาสนาฮินดูมีอยู่เกินคณานับ คัมภีร์ปุราณะต่างฉบับอธิบายความเป็นมาและความสัมพันธ์แตกต่างกัน ส่งผลให้มีลัทธินิกายต่างๆ มายมายตามเทพเจ้าที่นับถือ นิกายใหญ่ๆ ได้แก่ไวษณพนิกาย บูชาพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นหลัก ไศวะนิกาย บูชาพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นมหาเทพ และนิกายศักติ ซึ่งยึดถือศักติ คือพระอุมา-ชายาพระศิวะ และเทพนารีทั้งปวงเป็นสรณะ

ณ แดนภารตะ การจัดงานนวราตรีมีหลายรูปแบบ กอปรด้วยรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันตามภูมิสถาน๒ บางแห่งรู้จักกันในชื่อเทศกาลดูเซร่า (Dussehra-ทศหรา?) หลายพื้นที่ในอินเดียภาคเหนือมักถือเทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง วาระยิ่งใหญ่ที่พระรามได้ชัยชนะจากการปราบทศกัณฐ์ จึงมีการทำหุ่นขนาดใหญ่ของทศกัณฐ์พร้อมกุมภกรรณ (Kumbhakarna) น้องชายและ เมฆนาถ (Meghnadh - รณพักตร์หรืออินทรชิตในพากย์ไทย) ขึ้นมา ก่อนเผาไฟในวันที่สิบของเทศกาล เรียกชื่องานช่วงนี้ว่า “ทศหรา”๓ หรือวัน (พระราม) ชนะทศกัณฐ์ ส่วนทางภาคใต้ซึ่งเป็นดินแดนแห่งทศกัณฐ์ ไม่มีประเพณีดังกล่าว เพราะเป็นดินแดนแห่งทศกัณฐ์เฉลิมฉลองสิ่งอื่นแทน เช่นเทศกาลปงกัลของสังคมชาวนา หรือทุรคาบูชา เทศกาลเฉลิมฉลองการปราบมหิษาสูรของพระแม่ทุรคา ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยแห่งการเฉลิมฉลองต่างไปตามแต่ละถิ่น

หลายแห่งในรัฐทมิฬนาฑู อินเดียใต้กำหนดจัดงานนวราตรีเก้าวันเก้าคืน โดยแบ่งเป็นการบูชาเทพนารีสามองค์ คือ พระลักษมี พระสรัสวดี และพระอุมาเทวี องค์ละสามคืนไล่เรียงกันไป



อิทธิพลของเทศกาลนวราตรีที่ส่งมายังแดนไทย ถือเป็นช่วงที่พระแม่อุมาและขบวนเทพจะเสด็จมาสู่พื้นพิภพเพื่อประทานพรแก่ ชาวโลก จึงมีการบูชาพระศรีมหาอุมาเทวีเก้าปางในเก้าคืน
คือ

คืนแรก ปางไศลปุตรี ธิดาของหิมพาน ราชาแห่งภูเขา

คืนที่สอง ปางพรหมจาริณี พระแม่เกิดขึ้นเอง ไม่มีพ่อแม่ และอยู่เป็นโสด

คืนที่สาม ปางจันทรฆัณฎา ทรงปราบอสูรด้วยเสียงระฆัง

คืนที่สี่ ปางกูษามาณฑา ทรงปราบอสูร ด้วยอาวุธ (บ้างว่าเป็นปางทุรคา)

คืนที่ห้า ปางสกันทมาตา ทรงเลี้ยงพระขันทกุมาร โอรสผู้เกิดจากพระศิวะ

คืนที่หก ปางกาตยานี ทรงปราบอสูร (บ้างว่าทรงปราบมหิษาสูร)

คืนที่เจ็ด ปางกาลราตรี หรือกาลี ทรงเสวยเลือดอสูร

คืนที่แปด ปางมหาเคารี ทรงเป็นเจ้าแม่แห่งธัญชาติ ทำให้พืชพันธุ์อุดมสมบูรณ์

คืนที่เก้า ปางสิทธิธาตรี ทรงเป็นเจ้าแม่แห่งความสำเร็จ

บทความ