วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มัลลาขามบ์

มัลลาขามบ์ (Mallakhamb) หรือ มัลขามบ์ (Malkhamb) คือ กีฬาพื้นเมืองที่มีกำเนิดในอินเดีย เป็นการแสดงกายกรรมในท่าต่างๆ ประกอบเสียงดนตรีบนเสาไม้หรือเชือก อีกทั้ง มัลลาขามบ์ ยังหมายถึง เสา ที่ใช้ในการแสดงด้วย

คำว่า “มัลลาขามบ์ (Mallakhamb)” ประกอบด้วยคำว่า “มัลลา (malla)” ซึ่งหมายถึง “นักกายกรรม หรือ “ผู้ชายที่แข็งแรง” และคำว่า “ขามบ์ (khamb)” หมายถึง “เสา” มัลลาขามบ์ จึงอาจแปลได้ว่า ยิมนาสติกเสา

เรียกได้ว่า มัลลาขามบ์ เป็นกีฬากึ่งยิมนาสติก กึ่งศิลปะป้องกันตัว อันมีมาแต่โบราณของอินเดีย ซึ่งพบในบันทึกเก่าแก่ที่สุดถึง ศตวรรษที่ 12 แรกเริ่มนั้น มัลลาขามบ์ นำมาใช้ในการออกกำลังกายสำหรับนักกีฬามวยปล้ำ

แต่มัลลาขามบ์เสา (Pole mallakhamb) เริ่มขึ้นโดย Balambhattdada Deodhar ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1800-1810 ต่อมาลูกศิษย์ของท่านที่ชื่อ Damodarguru Moghe ที่พัฒนาไปใช้กับเสา และใช้ไม้ไผ่แทนเสา เมื่อเสาไม้หายากมากขึ้นก็ได้พัฒนามาใช้เชือกแทน และมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้มากกว่า 25 – 30 ชนิด ที่ได้ทดลองใช้และทดสอบกันมานานหลายปี

ที่โดดเด่นของกีฬามัลลาขามบ์ ได้แก่

มัลลาขามบ์เสาหรือ มัลลาขามบ์แบบตายตัว

รูปแบบนี้จะใช้เสาไม้แนวตั้งปักไว้กับพื้น และผู้เล่นจะต้องแสดงท่ากายกรรมและท่าทางอย่างคล่องแคล่วขณะแขวนอยู่บนเสา เสาที่ใช้ในการแข่งขันต้องเป็นเสาตรงจริงๆ ทำจากไม้สักหรือไม้ Sheesham ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองของอินเดีย มีความสูง 2.6 เมตร (8.5 ฟุต) เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 55 เซ็นติเมตร (22 นิ้ว) และค่อยๆ เรียวสอบที่ปลายยอดเสา ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 เซ็นติเมตร (14 นิ้ว)

มัลลาขามบ์แบบแขวน เป็นการแขวนตัวอยู่บนเสาไม้ ที่สั้นกว่าเสามัลลาขามบ์แบบมาตรฐาน ที่แขวนด้วยโซ่และตะขอ มีช่องว่างระหว่างพื้นและฐานของมัลลาขามบ์

มัลลาขามบ์เชือก ผู้เล่นต้องแสดงท่าออกกำลังกายขณะแขวนจากเชือกที่ห้อยลงมา

ซึ่งแต่ละประเภทต้องใช้กล้ามเนื้อแขนและขาที่แข็งแรงจริงๆ ในขณะยึดเหนี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งยังต้องแสดงลีลาท่าทางที่พริ้วไหวประกอบเสียงดนตรีเร้าใจ ทำให้กีฬาพื้นเมืองประเภทนี้ของอินเดียดึงดูดความสนใจจากผู้ชมได้เสมอ

บทความ