วันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตุลสีมาตา

หลายคนคงสงสัยว่า ชาวอินเดียส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาฮินดู ทำไมจึงปลูกกะเพราไว้ที่หน้าบ้าน และประดับประดาอย่างสวยงาม และมีพิธีกรรมหลายๆอย่างที่ต้องใช้กะเพรามาประกอบในพิธี รวมถึงเทพที่สำคัญอย่างพระนารายณ์ ก็ต้องใช้ใบกะเพราในการประกอบพิธี เรามารู้จักกะเพรากันให้ดีกว่านี้ดีกว่า
ในตำนานของการกำเนิดกะเพราหรือตุลสี (บ้างก็เรียก ตุลชี ตุลซี่) นั้นมีหลายทางที่กล่าวไว้ แต่ที่จะกล่าวไว้คือตำนานที่เริ่มจากพระศิวะโฮเลนาทร ทรงลงโทษอินทราเทพ ที่ไปรบกวนการบำเพ็ญภาวนาของพระองค์ จนพระเนตรที่สามเปิดขึ้น เกิดไฟเผาผลาญโลกอย่างดุเดือด เมื่อพระพิโรธสงบลง จึงได้เกิดกุมารน้อย บนทะเลของซินดูราชบิดาพระแม่ลักษมี (คิดว่าเป็นทะเลเกษียณสมุทร) พระแม่จึงได้น้องชายเป็นกุมารที่เกิดบนกองเพลิง เมื่อพระพรหมได้เข้ามาในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กุมารน้อยได้แสดงความจองหองกับพระพรหม พระพรหมจึงได้มอบกุมารนี้ให้ซินดูราชดูและ พร้อมกับขนานนามว่า ยาลันดรา พร้อมกันนั้นยังมีกุมารีคนหนึ่งนามว่า บรินดา มีความรักศรัทธาในองค์พระวิษณุนารายณ์มาก ภาวนาด้วยการขานพระนามตลอดเวลา เพื่อให้ได้สามีที่ดี จนเมื่อนางเจริญวัยขึ้นจึงได้พบกับ ยาลันดรา ผู้มีความสง่างาม และมีพลังอำนาจ ยาลันดราหลงรักบรินดาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จึงได้ตกลงใจสมรสกัน และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
จนวันหนึ่ง ราหู มารผู้ชั่วช้าได้ปรากฏกายพร้อมกับฤษีผู้จองหอง พวกเขาได้กล่าวกับยาลันดราถึงเรื่องต่างๆ ระหว่างเทวดากับเหล่ามาร เพื่อชี้ให้เห็นข้อคดโกงของเทวดา ยาลันดราเป้ฯผู้รักพวกพ้องจึงได้ประกาศสงครามระหว่างเทวดากับ อสูร แต่บรินดาได้เข้ามาห้ามไว้ แต่ด้วยความรักในสามีจึงไม่สามารถพูดอะไรได้มาก จึงได้แต่ภาวนาให้สามีปลอดภัย ยาลันดราบุกตีอินทราโลก และได้จับตัวอินทรานีมาทรมาณให้ได้รับความอับอาย บรินดาทนเห็นสตรีถูกกลั่นแกล้งไม่ได้จึงได้เข้าไปห้ามปรามสามี จึงถูกยาลันดราทำร้าย นารัทมุนีที่เป็นทุกข์ร้อนในเรื่องนี้อยู่แล้วจึงเข้าไปบอกกับพระแม่ลักษมี ให้มาห้ามน้องชายจากความชั่วร้าย แต่ยาลันดราไม่ฟัง เพราะราหูกล่าวถึงพระวิษณุในทางที่ไม่ดี ยาลันดราจึงประกาศสงครามกับวิษณุโลกอีกครั้ง

ในขณะที่จะออกรบ บรินดาได้เข้ามาเจิมหน้าผากให้กับยาลันดราพร้อมทั้งกล่าวขอพรให้พระวิษณุคุ้มครอง ยาลันดราไม่พอใจจึงตัดลิ้นของบรินดา ห้ามไม่ให้กล่าวบูชาพระวิษณุอีก แต่ด้วยบารมีของบรินดา ทำให้นางได้ลิ้นคืนและได้สวดขอพรให้ยาลันดราปลอดภัยกลับมา เมื่อยาลันดราชนะวิษณุโลกได้แล้วก็หลงมัวเมาในกามตันหา แม้กระทั้งฤษีที่ยุให้ยาลันดราก่อสงคราม เขาก็ไม่ฟัง บรินดาจึงเข้ามาตักเตือนสามี แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ นารัทมุนี จึงได้เข้าไปขอพรให้พระศิวะช่วยเหลือ แต่พระศิวะก็ไม่ช่วยเพราะเป็นเหตุที่เกิดจากการล่วงเกินพระองค์เอง นารัทมุนีจึงคิดอุบายยุให้ยาลันดรามาชิงตัวแม่อุมาเทวีไป โดยเข้าไปพรรณนาความงามของแม่อุมาให้ยาลันดราฟัง ยาลันดราเมื่อได้ฟังก็หลงใหล จึงประกาศสงครามกับศิวะโลก พระศิวะจึงทนไม่ไหวออกประกาศสงครามกับยาลันดรา ยาลันดราเมื่อเอาชนะพระศิวะได้จึงคิดที่จะเข้าไปลวนลามพระแม่อุมา แต่พระแม่ได้ใช้พระเนตรเผายาลันดรา แต่ไม่สำเร็จเพราะมีบารมีของบรินดาคุ้มครองอยู่ เหล่าเทวดาจึงช่วยกันคิดหาอุบายที่จะทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสัจจะแห่งบรินดา ที่ซื่อตรงในสามี พระวิษณุจึงจำแลงกายเป็นยาลันดรา เข้าไปหาบรินดา บรินดาเมื่อเห็นสามีก็มีความดีใจมาก พระวิษณุในร่างยาลันดราจึงลอบมีสัมพันธ์กับบรินดา

ในขณะที่ยาลันดรากำลังจะออกรบอีกครั้ง มาลาที่แสดงความซื่อตรงต่อสามีของบรินดาที่มองให้ยาลันดรามานั้นเกิดเหี่ยวเฉาขึ้นมา ยาลันดราจึงรู้ว่าบรินดาคิดไม่ซื่อเสียแล้ว จึงออกรบโดยที่ไม่สนใจถึงอำนาจใดๆ ทั้งที่เขาเคยมีอำนาจของบรินดาคุ้มครอง แต่ด้วยความทะนงตนจึงคิดว่าเป็นเพราะบารมีของตนเองทั้งสิ้น พระศิวะเมื่อได้โอกาส จึงตัดหัวของยาลันดรา ด้วยอำนาจแค้นหัวของยาลันดราจึงตะโกนด่าบรินดา แล้วลอยมาที่วังของตน บรินดาเมื่อเห็นศีรษะของสามีก็ตกใจมาก เพราะที่ยืนอยู่ก็คือสามี หัวที่ลอยมาก็คือสามี บรินดาจึงถามผู้ที่มีร่างยืนอยู่ แต่ก็ไม่พูดอะไร บรินดาจึงอธิฐานให้ผู้ที่มีร่างยืนอยู่ปรากฏร่างจริง ร่างของยาลันดราจึงกลายเป็นพระวิษณุ บรินดาเสียใจมากรีบเข้าไปกอดศีรษะสามีไว้ ยาลันดราสำนึกได้แต่ก็สายไปเสียแล้วจึงได้แต่กล่าวขอโทษ ด้วยความผิดของพระวิษณุ บรินดาจึงสาปให้พระวิษณุ กลายเป็นหินทันที เมื่อพระวิษณุกลายเป็นหิน เครื่องประดับของพระแม่ลักษมีก็หายไปจากกายจนสิ้นเหลือแต่เสื้อผ้าที่เศร้าหมอง วิษณุโลกดำมืดลง โลกทั้งโลกหยุดหมุน พระแม่ลักษมีจึงรีบมาหาต้นเหตุ จนพบกับบรินดานั่งร้องไห้กอดศีรษะสามีอยู่ พร้อมกับร่างของพระวิษณุที่ได้กลายเป็นหิน เหล่าเทพก็เข้ามาขอร้องบรินดาให้คืนคำสาป แต่บรินดากลับทำให้ร้ายยิ่งขึ้น คือยิ่งสาปให้โลกแตกออก ให้ไฟผลาญโลกอีก จนเหล่าสรรพสัตว์หนีตายกันอลหม่าน

พระแม่ลักษมีจึงได้เข้ามาขอร้องบรินดา โดยกล่าวว่า สตรีคนหนึ่งที่ขาดสามีแล้ว ก็ไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ไม่มีลมหายใจ บรินดาได้ฟังแล้วก็รุ้สึกเศร้าใจ จึงได้ปลอบใจพี่สะใภ้ว่า ขออย่าได้ทุกข์ใจไป พี่เป็นแม่ของโลก แม่ได้ให้ทุกอย่างแก่ทุกคน แต่วันนี้แม่ของโลกต้องร้องไห้ เพราะการกระทำของลูกชั่ว แต่แม่ของโลกจะกลับไปมือเปล่าไม่ได้ เมื่อกล่าวดังนี้แล้วบรินดาจึงได้อธิฐานคืนคำสาป พระวิษณุจึงกลับเป็นปกติ เหล่าเทพจึงขอร้องให้พระศิวะคืนชีวิตให้สามีของบรินดาแต่บรินดาไม่ต้องการอีก เพราะนางได้เสียความบริสุทธิ์เสียแล้วจึงไม่ต้องการให้โลกติเตียน ที่นางต้องเป็นคนนอกใจสามี

นางจึงอุ้มศีรษะสามีไว้ พร้อมกับอธิฐานขอพระแม่อัคคีเยาวลา ให้เผาผลาญร่างของตนพร้อมกับศีรษะสามีไป เมื่อเพลิงลุกโหม เหล่าเทวะต่างร่ำไห้กับนางจนร่างมอดไหม้ไป เหล่าเทพจึงนำผงเถ้าถ่านจากร่างกายของบรินดา ขึ้นมาทำที่ตัวเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่บรินดา พระวิษณุได้คุกเข่าลงกล่าวสรรเสริญบรินดาพร้อมทั้งเนรมิตนางให้กลายเป็นต้นตุลสี พร้อมกับให้พรว่า จากนี้ต่อไป นามตุลสีคือความบริสุทธิ์ตลอดกาล ตุลสีจะเป็นเครื่องบูชาที่เหล่าเทวะพอใจ พร้อมกันนี้ ยังได้เนรมิต ซาดีกรา ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงความผิดของพระวิศนุ และทุกปีเมื่อถึงวันฉลองตุลสี จะต้องมีการจัดงานแต่งงานของตุลสีและซาดีกราด้วย



ในบ้านต่าง    ๆ   จึงมีการปลุกตุลสีกันอย่างดาษดื่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่นับถือไวศนพนิกายต่างจะต้องมีตุลสีไว้ประจำบ้าน และในงานแต่งงานหรือเมื่อมีเด็กเกิดใหม่ จะมีการขอพรจากตุลสีให้คุ้มครองชีวิตให้บริสุทธิ์และมีความสุขตลอดไป


บทความ