วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มือถือสาวอินเดีย

เรื่องราวความรักต้องห้ามในดินแดนที่ระบบคลุมถุงชนเหนียวแน่นอย่างภาคเหนือของอินเดีย ทำให้หนุ่มสาวหลายคู่ต้องหาทางออกโดยการหนีตามกัน และตามมาด้วยการล่าล้างสังหารด้วยความรุนแรงจากคนในครอบครัว ญาติ รวมทั้งสภาหมู่บ้านที่เรียกว่า “ขาบ” หรือ “ขาบปัญจยาต (Khap Panchayat)” คณะบุคคลผู้ทรงมีอิทธิพลสำคัญในการควบคุมชีวิตของหนุ่มสาวในชุมชน

ในสังคมที่กฏหมู่เป็นใหญ่ การตั้งกฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อจำกัดเสรีภาพของสมาชิกจึงเป็นไปโดยง่าย โดยเฉพาะเด็กสาวที่ถือว่าแบกเกียรติยศของครอบครัวและชุมชนไว้บนบ่า จึงมักถูกกดขี่ด้วยกฏเกณฑ์ต่างๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแยกชั้นเรียนระหว่างเพศ การจับเด็กหญิงแต่งงานก่อนวัยอันควร ล่าสุดมีการสั่งห้ามเด็กสาวใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อป้องกันการลักลอบคบหากัน และอาจจะนำไปสู่การหนีตามกันของคู่รักในที่สุด

มีรายงานข่าวมาจากรัฐอุตตรประเทศ ที่การฆ่าเพื่อเกียรติยศแพร่หลายทั่วไปในกลุ่มหนุ่มสาวที่ขัดขืนคำสั่งของสภาหมู่บ้านโดยการแต่งงานในสายตระกูลเดียวกัน ทำให้ขาบปัญจยาตของหมู่บ้านแลกห์ (Lakh) ในเขตชัมลี (Shamli) แห่งมูซาฟฟาร์นาการ์ (Muzaffarnagar) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงกรุงเดลีราว 100 กิโลเมตร นำร่องด้วยการออกกฏเหล็กเพิ่ม โดยการประกาศห้ามเด็กสาวที่ยังไม่แต่งงานใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้หนุ่มสาวหลบหนีไปแต่งงานกันโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อาวุโสในหมู่บ้าน

การออกคำสั่งครั้งนี้แม้จะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านในกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรี และสตรีบางคนในหมู่บ้านเองก็ตาม แต่ก็อย่างว่าเรื่อง “สิทธิสตรี” ไม่เคยมีอยู่ในชุมชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของ “ขาบปัญจยาต” มาก่อน และขาบเองมีกลุ่มอำนาจทางการเมืองระดับภูมิภาคบางแห่งให้การสนับสนุนอยู่ ซึ่งขาบในหมู่บ้านแลกห์ก็ได้ยื่นร่างมาตรการตรวจสอบการแต่งงานในกลุ่มตระกูลเดียวกัน เข้าสู่ “สภาขาบมหาปัญจยาตทั้งมวล (All Khap Mahapanchayat – AKM)” ที่ซอรวม (Sauraum) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นอกเหนือจากห้ามใช้โทรศัพท์มือถือแล้ว ขาบปัญจยาตยังออกคำสั่งอื่นๆ เช่น ห้ามเด็กสาวในชุมชนนุ่งห่มเสื้อผ้ารัดรูป หรือขึ้นเต้นรำบนเวทีในระหว่างงานปาร์ตี้หรืองานเฉลิมฉลองอื่นๆ หรือแม้แต่ที่บ้านของตนเองก็ห้ามด้วย

ก็ไม่รู้ว่าเด็กสาวที่เกิดมาในพื้นที่เหล่านี้จะทนแบกรับกฏเกณฑ์ต่างๆ ที่บีบรัดไปได้มากน้อยแค่ไหน เกิดมาเป็นหญิงก็ลำบากมากพออยู่แล้ว แต่มาเป็นผู้หญิงทางภาคเหนือของอินเดียนี่ลำบากยิ่งกว่าหลายเท่าทีเดียว



บทความ