วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เทศกาลแห่งชัยชนะ

ดุชเชห์ร่า (Dussehra) เป็นเทศกาลหนึ่งที่เฉลิมฉลองกันทั่วอินเดีย หลังจากนวราตรีผ่านไปแล้ว 9 วัน ในวันที่ 10 แห่งเดือนอัศวิน (Ashwin) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 ตุลาคม ชาวฮินดูจะเฉลิมฉลองกันอีกครั้งเรียกว่า ดุชเชห์ร่า หรือ วิชยทัสมิ (Vijayadashmi) ถือเป็นวันที่พระรามสังหารอสูรราวณะได้ และยังเป็นวันที่พระแม่ทุรคาเอาชนะมหิงสาสูร ซึ่งเป็นชัยชนะของความดีต่อความชั่วร้าย ในวันนี้ชาวฮินดูจึงนิยมเฉลิมฉลองกันทั่วไป

ตามตำนานฮินดู “รามายณะ” กล่าวว่า พระรามได้กระทำพิธีจันดิบูชา (Chandi-Puja) ขอพรจากพระแม่ทุรคาเพื่อสังหารอสูรราวณะ (Ravana) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ทศกัณฐ์ กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ผู้มีสิบเศียร และได้ลักพาตัวนางสีดา มเหสีของพระรามไป พระแม่ทุรคาได้เผยความลับถึงวิธีสังหารอสูรราวณะให้พระรามทราบ ทำให้พระรามสามารถสังหารอสูรร้ายได้ จากนั้น พระรามพร้อมทั้งนางสีดา และพระลักษณ์ พระอนุชาก็ได้เสด็จกลับ นครอโยธยา (Ayodhya) ในวันที่เรียกว่า “ดิวาลี” (Diwali) ซึ่งชาวฮินดูจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่

ในวันดุชเชห์ร่านี้จะมีการแสดงละครพื้นบ้าน รามลีลา (Ramlila) เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้ระหว่างพระรามและอสูรราวณะ ซึ่งคำว่า ดุชเชห์ร่า (Dussehra) หมายถึง การตัดเศียรทั้งสิบเศียรของอสูรราวณะ นักแสดงจะแต่งกายเป็นพระรามแล้วยิงศรไฟไปยังหุ่นจำลองรูปอสูรทั้งสาม ได้แก่ ราวณะ (Ravana) กษัตริย์แห่งกรุงลังกา กุมภการัณ (Kumbhkaran) หรือ กุมภกัณฑ์ พระอนุชา และ เมฆนาธ (Meghnath) โอรสของราวณะ ซึ่งมีประทัดซ่อนไว้ ทำให้รูปหุ่นระเบิดและมีไฟลุกท่วม เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชัยชนะของความดีที่มีต่อความชั่วร้าย

ดุชเชห์ร่า จึงถือเป็นวันสิ้นสุดเทศกาลนวราตรี ในวันที่พระรามสังหารอสูรราวณะได้ หลังการแสดงรามลีลา และเผาหุ่นจำลองอสูรทั้งสามแล้ว ผู้แสดงเป็นพระราม นางสีดา และพระลักษณ์ ก็จะขึ้นรถม้าแล้วแห่แหนไปรอบๆ ฝูงชนก็จะตะโกนว่า Jai Shri Ram (หมายถึง ชัยชนะของพระราม) สำหรับในปัจจุบันยังมีความหมายถึงการทำลายอสูรที่อยู่ภายในอัตตาของตัวเราเอง แล้วแผ่รังสีแห่งสันติภาพและความรักออกมา

ดุชเชห์ร่ายังถือว่าเป็นวันที่เป็นมงคลมากที่สุดวันหนึ่งของชาวฮินดู ซึ่งเชื่อว่าถ้าได้เริ่มต้นกิจการงานใดๆ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ดังนั้นจึงมักจะมีการวางรากฐานอาคารใหม่ๆ ในวันนี้ หรือเปิดตัวธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งยังมีการนำเครื่องมือการเกษตร เครื่องจักรกลต่างๆ เครื่องใช้ในครัวเรือน หนังสือเรียนของเด็กๆ มาทำการบูชาต่อหน้ารูปเคารพของพระแม่ทุรคาอีกด้วย

บทความ