วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อุ่นท้อง

การดำรงชีพอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นทางตอนเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะแถบเทือกเขาหิมาลัย คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับชาวเราที่ไม่เคยได้สัมผัสหิมะมาก่อน แต่สำหรับชาวแคชเมียร์แล้วความหนาวเหน็บไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด แต่ที่เป็นปัญหาคือสถานการณ์ความขัดแย้งที่ร้อนระอุและคุกรุ่นยิ่งกว่าหม้อไฟของชาวแคชเมียร์ซะอีก

เหตุที่ชาวแคชเมียร์สามารถต่อสู้กับความหนาวเหน็บที่ยาวนาน 4-5 เดือน (ตุลาคม-มีนาคม) ได้อย่างสบายนั้น เป็นเพราะภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้รังสรรค์สิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา นั่นคือ “กังกรี (Kangris)” ที่หมายถึง “หม้อไฟ” เครื่องทำความร้อนโบราณแบบเคลื่อนที่ได้ ที่นิยมใช้บรรเทาความหนาวเหน็บในแคชเมียร์กันทุกครัวเรือน

รูปลักษณ์ภายนอกของกังกรีก็เหมือนเครื่องจักสานด้วยหวายทรงตะกร้าขนาดเล็กโดยทั่วไป แต่ที่พิเศษคือ เป็นตะกร้าที่สานหุ้มหม้อดินเผาไว้ภายใน ซึ่งหม้อดินเผานี้มีไว้สำหรับบรรจุถ่านไฟ ที่ให้ความอบอุ่นได้ดีไม่แพ้ฮีทเตอร์ไฟฟ้าเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เฉพาะแต่กังกรีอย่างเดียวไม่อาจบรรเทาความหนาวเหน็บโดยสมบูรณ์แบบได้ถ้าขาด “เปรัน (Pheran)” เสื้อคลุมตัวยาวถึงน่อง มีแขนยาว เป็นเครื่องแต่งกายตามแบบประเพณีนิยมของชาวแคชเมียร์โดยเฉพาะผู้ชาย

แต่โดยมากแล้วผู้ชายชาวแคชเมียร์จะนิยมนุ่งเปรันแบบทิ้งแขนเสื้อห้อยไว้ เพราะมือทั้งสองต้องคอยประคองกังกรีไว้ใต้เสื้อคลุมแสนอบอุ่นจากความร้อนที่ระอุออกมาจากหม้อไฟ ซึ่งมักจะมีขี้เถ้ากลบถ่านไฟไว้อีกชั้นเพื่อควบคุมความร้อน

มีหม้อกังกรีภายใต้เปรันแล้วก็หายห่วง จะเดินเหินไปทำธุระปะปังที่ไหนก็ได้ทั่วเมือง โดยไม่ต้องกลัวความหนาวเย็นภายนอกอาคารแต่อย่างใด กังกรีจึงเป็นที่นิยมใช้ทั่วไปทั้งในชนบทและในเมืองใหญ่ อย่างในศรีนคร เมืองหลวงของรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ เราจะพบเห็นชาวแคชเมียร์เดินเหินไปมาโดยมีกังกรีอยู่ภายใต้เสื้อคลุม เหมือนคนท้องยังไงยังงั้นเลย

แถมราคาของกังกรีก็ไม่แพงจนเกินไป ราว 40-120 รูปี ชาวบ้านทั่วไปโดยเฉพาะคนยากจนสามารถหาซื้อมาใช้บรรเทาความหนาวเหน็บกันได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งชาวแคชเมียร์ยังนิยมให้หม้อกังกรีเป็นของขวัญแต่งงานแก่เจ้าสาว เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับหน้าหนาวแรกที่มาเยือนในชีวิตแต่งงาน

ผู้หญิงชาวแคชเมียร์ยังถือว่ากังกรีเป็นเครื่องบอกเหตุที่ดี พวกเธอจะเผาเมล็ดพืชในหม้อกังกรีเพื่อฉลองโอกาสอันเป็นมงคลต่างๆ เมื่อสิ้นหน้าหนาวแล้วชาวแคชเมียร์ก็นิยมทุบหม้อกังกรีทิ้งเพื่อเป็นการอำลาหน้าหนาวที่แสนจะหนาวเหน็บ และเพื่อต้อนรับความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังจะมาเยือน

แม้เครื่องฮีตเตอร์ไฟฟ้าจะแพร่หลายในครัวเรือนทั่วไปแล้วก็ตาม แต่กังกรีก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ทุกยุคสมัย เสมือนเป็นเครื่องใช้ประจำตัวของบุคคลในยามหนาวเลยทีเดียว กล่าวกันว่า ถ้าปราศจากกังกรีแล้วชาวแคชเมียร์คงจะต่อสู้กับความหนาวเย็นอย่างยากลำบากทีเดียว

จึงนับได้ว่า “กังกรี หม้อไฟใต้เสื้อคลุม” นี้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าทึ่ง และยังเป็นหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นแคชเมียร์อีกด้วย



บทความ