วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องของหนู


ในบรรดาเทวดาทั้งหลายในศาสนาฮินดู ไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่า เทวดาที่มีความเป็นสากลและเป็นที่เคารพบูชามากที่สุด นั้นคือ “พระคเณศ” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ลักษณะของพระคเณศนั้นเป็นอย่างไร

แต่ในวันนี้จะมาพูดถึง บริวารของพระคเณศ ซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ทั่วๆไป เรียกได้ว่า พระคเณศ อยู่ที่ใด ที่นั่นต้องมีเขาคนนั้นตามไปด้วยเสมอๆ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า เขาที่ว่านั้นคือใคร?

ชื่อของพระเอกของเราในวันนี้ มีชื่อเรียกว่า มูสิกะ หรือ ในภาษาอังกฤษจะเขียนได้ว่า mooshika มีรูปกายเป็นหนู ซึ่งเป็นพาหนะของพระคเณศนั่นเอง

คำว่า “มูสิกะ” ผู้เขียนเข้าใจว่า น่าจะเป็นคำที่มาจากภาษาสันสฤต เพราะเคย สวดมนต์เป็นภาษาบาลีบ่อยๆว่า “สะระพู มูสิกา กะตา เมรักขา กะตาเม ปะริตตา” แต่ในบทสวดมนต์ภาษาบาลี เราจะใช้คำว่า “มูสิกา” ไม่ใช้ “มูสิกะ” ก็แบบนี้ล่ะ สองภาษานี้เป็นภาษาพี่ภาษาน้องกันนี่ มันก็ต้องมีความคล้ายกันบ้างล่ะ แต่บางที่อาจจะใช้คำๆเดียวกันเลยล่ะ เพราะผู้เขียนก็ไม่แตกฉานในภาษาบาลี จึงขอยกไว้ไม่กล่าวถึงจะดีกว่า

ความจริงแล้ว ชื่อของพญาหนู ตนนี้ มีสองตำรา แต่ในคัมภีร์ “คเณศชาปุราณะ” (Holy Ganeshapurana) ได้กล่าวไว้ว่า แต่เดิมที มีเทวดาผู้โชคร้ายอยู่องค์หนึ่งมีนามว่า “กาจามูกะ” (Kroncha) ได้เดินไปเหยียบหัวแม่เท้าของ พระมุนีวามะเทพ (Muni Vamadeva) ในงานประชุมที่เทวสภาของพระอินทร์ ทำให้ถูกสาปให้เป็นหนู ด้วยความตกใจ เทวดากาจามูกะ จึงอ้อนวอนต่อพระมุนีวามะเทพ แต่ด้วยคำสาปที่กล่าวไปแล้วนั้นมีอานุภาพที่ไม่อาจถอนคืนได้ พระมุนีจึง กล่าวคำด้วยวาจาสัตย์ขึ้นใหม่ว่า “เจ้าจงไปเป็นข้ารับใช้ของพระคเณศ พระคเณศเท่านั้นที่จะช่วยให้เจ้าพ้นทุกข์ในกายสังขารที่เป็นหนูนี้ได้”

ครานั้นเอง พระคเณศ ได้ยินเสียง พญาหนูกาจามูกะ ที่ถูกสาปเรียบร้อยแล้ว ออกส่งเสียงทำลายข้าวของทุกอย่างที่ขวางหน้า (นิสัยของหนู) พระคเณศ จึงตัดสินใจ ว่าจะต้องปราบเจ้าหนูตนนี้เสียแล้ว จึงคว้าอาวุธ คือ บ่วงเชือก (Pasha) ขว้างไปที่คอของพญาหนูกาจามูกะ จนสิ้นพยศ ตั้งแต่นั้นมาพญาหนูกาจามูกะจึงรับเป็นพาหณะของพระคเณศ

แต่ปัญหาไม่จบเพียงเท่านั้น ปกติแล้วพญาหนูจามูกะนั้น มีกายที่ไม่ใช่หนูธรรมดา ในตำรากล่าวไว้ว่า มีขนาดที่สามารถทำลายภูเขาทั้งลูกได้ ถ้าเปรียบเทียบกันในแนวตรรกะแล้ว ถ้าหนูตัวใหญ่ขนาดทำลายภูเขาได้ พระคเณศนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าหนูหลายเท่าตัวนัก พระคเณศจึงบันดาลให้สำเร็จด้วยฤทธิ์ ให้กายของพระองค์มีน้ำหนักเบาเพียงพอที่พญาหนูกาจามูกะ หรือ มูสิกะจะแบกรับไว้ได้ นั่นเอง

บทความ