วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ข้าวสำเร็จรูป

นักวิทยาศาสตร์การเกษตรชาวอินเดียประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ข้าวอ่อนชนิดหนึ่งที่รูปร่างหน้าตาเหมือนข้าวพันธุ์ปกติทั่วไป ยกเว้นก็แต่ไม่ต้องหุงหาให้เปลืองฟืนไฟ แค่แช่น้ำทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องปกติเพียงแค่ 45 นาทีก็นำมารับประทานได้เลย ว๊าว! ดีจัง

ข้าวพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ อัฟกานิโบรา (Aghunibora, Aghonibora) คิดค้นขึ้นโดย สถานีวิจัยข้าวติตาบาร์ (Titabar Rice Research Station) แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรอัสสัม (Assam Agricultural University) และศึกษาวิจัยต่อเนื่องโดย สถาบันวิจัยข้าวกลาง (Central Rice Research Institute – CRRI) ของอินเดีย

ซึ่งทาง CRRI เริ่มศึกษาข้าวชนิดนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 โดยได้แนวคิดมาจากข้าวพันธุ์อ่อนที่เรียกว่า โกมาลซอว์ล (komal sawl) เป็นพันธุ์ที่รู้จักกันดีในอัสสัม รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ที่เติบโตในพื้นที่ที่มีอากาศอบอุ่น เนื่องจากตระหนักเห็นในศักยภาพและประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทาง CRRI จึงได้พัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่นี้ขึ้น

เริ่มต้นโดยการทดลองพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมของข้าวพันธุ์อ่อนเดิมกับข้าวพันธุ์ปกติที่ให้ผลผลิตสูง ที่จะสามารถเติบโตได้ในภูมิอากาศต่างๆ ทั่วอินเดีย ผลการทดลองสามปี ชี้ให้เห็นว่าข้าวพันธุ์ใหม่นี้ใช้เวลาเพาะปลูกราว 145 วัน จึงจะเก็บเกี่ยวได้ และสามารถให้ผลผลิตได้สูงถึง 4 – 4.5 ตันต่อพื้นที่หนึ่งเฮกเตอร์ (6 ไร่ 1 งาน) ในขณะนี้ทางสถาบันวิจัยวางแผนที่จะปลูกข้าวพันธุ์นี้ในพื้นที่ของรัฐอานธรประเทศ เบงกอลตะวันตก และพิหาร

แม้ว่า อัฟกานิโบรา จะเผยแพร่ออกมาในช่วงนี้ แต่เมล็ดพันธุ์ข้าวยังคงไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับชาวนา ทางศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวกลางก็ได้วางแผนที่จะเพาะเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่กว้างขวางขึ้นเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์มาแจกจ่ายให้กับชาวนาอย่างทั่วถึง

สำหรับประเทศที่มีประชากรยากจนจำนวนมากและขาดสารอาหาร ข้าวไม่ต้องหุงนี้จะช่วยบรรเทาภาวะหิวโหยได้ ทั้งยังช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ประหยัดเวลาในการหุงหา และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่เกิดจากการหุงต้มได้ เรียกได้ว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมดีจริงๆ

บทความ