วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรื่องกินเรื่องเล็ก ไม่ได้กินสิเรื่องใหญ่

วัฒนธรรมการกินอยู่ของแต่ละประเทศต่างก็เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญของคนในประเทศนั้น ซึ่งมีความแตกต่างกันตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา คนอินเดียก็เช่นเดียวกัน ที่มีข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติที่พวกเราควรทราบกันไว้ถ้าได้มาอินเดีย โดยเฉพาะถ้าได้รับเชิญให้ไปรับประทานอาหารที่บ้านเพื่อน ก็จะช่วยให้เราปฏิบัติตนได้ถูกต้องและเข้ากับวัฒนธรรมของเขาได้

ในการรับประทานอาหารโดยทั่วไปคนอินเดียจะรับประทานด้วยมือ ไม่ใช้ช้อนส้อม แม้แต่อาหารประเภทน้ำ จำพวกแกงเผ็ด หรือซุบถั่วต่างๆ ก็เช่นกัน จะใช้แป้งขนมปัง เช่น นาน จาปาตี หรือโรตี ตักเข้าปากรับประทาน และการทานอาหารด้วยมือก็ถือว่าเป็นการรับประทานอาหารที่ได้รสชาติดีกว่าการใช้ช้อนส้อม

ถ้าเป็นแบบอินเดียดั้งเดิมจริงๆ ที่ปฏิบัติมาแต่โบราณจะใช้ใบตองแทนจาน รับประทานเสร็จก็โยนทิ้งให้สลายตัวในธรรมชาติได้เลย ไม่ต้องมีภาระล้างถ้วยจานชามมากมาย อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจึงแทบไม่มีความจำเป็น ดังนั้นบนโต๊ะอาหารจะไม่มีอุปกรณ์อื่นๆ ให้ นอกเหนือจากถาดอาหาร ยกเว้นตามร้านอาหารทั่วไปก็อาจให้ช้อนมาด้วยแต่ซ่อมนี่ไม่มีแน่

ในการรับประทานอาหารด้วยมือต้องใช้มือขวาเพียงข้างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่ใช้เรื่องง่ายๆ เลย สำหรับคนที่ไม่เคยทานด้วยมือมาก่อน และคำว่ามือนี่ก็ไม่ได้หมายถึงทั้งมือ แต่หมายถึงแค่ปลายนิ้วเท่านั้นที่ใช้รวบอาหารแล้วกอบเข้าปาก การรับประทานแบบผู้ดีมีมารยาทของชาวอินเดียต้องไม่ให้มือเลอะเทอะ และจานอาหารต้องเกลี้ยงเกลาสะอาด มือข้างซ้ายนี่ห้ามใช้เลย เพราะถือว่าเป็นมือที่ใช้ชำระล้างในห้องน้ำ ไม่ควรเอามาใช้ในการรับประทานอาหาร แต่ในบางชุมชนก็ยอมรับให้คนที่ถนัดซ้ายใช้มือซ้ายในการรับประทานอาหารได้

ดังนั้นก่อนรับประทานอาหารจึงต้องล้างมือให้สะอาด และการรับประทานอาหารที่เป็นทางการต้องให้เกียรติเจ้าภาพหรือผู้อาวุโส รับประทานก่อน และต้องไม่ลุกจากที่นั่งแม้จะรับประทานเสร็จแล้ว จนกว่าเจ้าภาพหรือผู้อาวุโสจะทานเสร็จ อาจขอตัวลุกออกไปล้างมือได้ แต่ต้องรีบกลับมานั่งประจำที่โดยทันที

ส่วนใหญ่แล้วคนอินเดียนิยมรับประทานกับพื้น จึงต้องนั่งขัดสมาธิ หลังตรงเสมอ แต่ถ้านั่งบนโต๊ะอาหารต้องไม่เท้าศอกบนโต๊ะ และอย่ายกถ้วยหรือจานอาหารขึ้น ให้ใช้มือกอบอาหารเข้าปากเท่านั้น

การตักอาหารใส่จานให้ตักเท่าที่จะทานได้หมด และการหยิบอาหารทานแต่ละครั้งควรหยิบคำเล็กๆ เพื่อไม่ได้หกเลอะเทอะ ทั้งปากและฝ่ามือ และควรทานให้ได้จังหวะสม่ำเสมอ ถ้าทานช้าไปอาจเป็นการแสดงความนัยว่าอาหารไม่อร่อยถูกปาก หรือทานเร็วไปก็เป็นการไม่สุภาพเช่นกัน

และเจ้าภาพจะมีความสุขมากที่เห็นแขกทานอาหารที่บ้านได้เยอะ แสดงว่าอาหารอร่อย ถ้าทานหมดเร็วเขาก็จะรีบตักให้ใหม่ทันที และตักทีละเยอะๆ ด้วย ถ้าทานไม่หมดเป็นอันไม่ให้เกียรติเจ้าภาพอีก ดังนั้นต้องรักษาจังหวะให้ดี และหาทางออกที่สุภาพที่จะปฏิเสธโดยไม่ให้เขาเสียน้ำใจนึกว่าเราไม่ชอบอาหารของเขา

จริงๆ แล้วการรับประทานแบบคนอินเดียก็ไม่ได้ลำบากมากมาย เพียงแต่เราไม่คุ้นเคยกับการใช้มือข้างเดียวหยิบอาหารเข้าปาก พวกเราถนัดใช้ทั้งสองมือช่วยฉีกจับอาหารมากกว่า และบางทีไปทานตามร้านอาหารถูกโต๊ะรอบข้างเขามองเอาว่าทานกันอย่างไรให้เลอะเทอะทั้งสองมือ อันนี้พวกเราไม่ค่อยสนเท่าไหร่ เพราะเขาคงไม่รู้ว่าเรามาจากไหน แต่ถ้าไปทานตามบ้านเพื่อนก็อย่าให้เขาว่าเอาได้นะคะว่าเราไม่มีมารยาท ไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติของเขา

บทความ