วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ชีวิต/คน/ธรรม/งาน ผสานอย่างไร ให้เป็น "สุข"

กำเนิดแห่งชีวิต
       การเริ่มต้นชีวิต ชีวิตในทัศนะพระพุทธศาสนาเกิดโดยอาศัยกระบวนการทางปฏิจจสมุปบาท คืออาศัยเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกันโดยไม่ขาดสาย ในมหาสีหนาทสสสสูตรพระพุทธองค์ตรัสประเภทกำเนิดของสัตว์ไว้ 4 ประการ คือ
       ๑. สัตว์ที่เกิดจากเปลือกฟองไข่ เรียกว่า อัณฑชะ
       ๒. สัตว์ที่เกิดจากครรภ์ เรียกว่า ชลาพุชะ
       ๓. สัตว์ที่เกิดในปลาเน่า ในเถ้าไคล เรียกว่า สังเสทชะ
       ๔. สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเต็มตัว เช่น เทวดา สัตว์นรก เรียกว่า โอปปาติกะ
       ส่วนการเกิดในโลกของมนุษย์ เช่นการเกิดของคนและสัตว์ ต้องอาศัยพ่อแม่เป็นเชื้อให้ ด้วยการผสมพันธุ์ อาศัยธรรมชาติ อาศัยอาหาร ตามนัยอภิธรรมกล่าวไว้ว่า การเกิดเป็นมนุษย์เริ่มตั้งแต่มีปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งเกิดขึ้นต่อจากจุติจิตในมรณาสันนวิถี อันเป็นดวงจิตสุดท้ายต่อจากชาติก่อน ตายจากชาติก่อนแล้วเกิดทันที ไม่มีระหว่างคั่น ปฏิสนธิจิตนี้แหละเป็นส่วนหนึ่งในการเริ่มต้นของชีวิต 3 อย่างคือ บิดามารดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู (ไข่พร้อมที่จะสืบพันธุ์) คันธัพพะ (มีปฏิสนธิจิตหรือปฏิสนธิวิญญาณมาอาศัย)
       กระบวนการเจริญเติบโตของมนุษย์ในครรภ์ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอินทกสูตรโดยลำดับเป็น 5 ขั้นตอนในแต่ละสัปดาห์ดังนี้
       สัปดาห์ที่ ๑ เป็นกลละ เป็นน้ำใส มีลักษณะเป็นเมือก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเจริญเติบโต
       สัปดาห์ที่ ๒ เป็นอัพพุทะ มีลักษณะเป็นเมือกที่ขุ่นข้น
       สัปดาห์ที่ ๓ เป็นเปสิ มีลักษณะแดง
       สัปดาห์ที่ ๔ เป็นฆนะ มีลักษณะเป็นก้อนค่อย ๆ แข็งตัวขึ้น
       สัปดาห์ที่ ๕ เป็นปัญจสาขา มีลักษณะเป็นปุ่ม ๕ ปุ่ม คือ ปุ่มศรีษะ ๑ ปุ่ม ปุ่มแขน ๒ ปุ่ม ปุ่มขา ๒ ปุ่ม จากนั้นก็จะพัฒนาไปสู่การเป็นรูปร่างจนมีผม ขน เล็บ เป็นต้น ตามมา
       การเกิดชีวิต ในทัศนะของพระพุทธศาสนานั้น เป็นการเกิด ๒ ครั้ง ครั้งแรกคือการเกิดทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจิตเดิมนั้นเป็นจิตบริสุทธิ์ ไม่มีเครื่องเศร้าหมอง ไม่มีกิเลส ส่วนการเกิดครั้งที่ ๒ เป็นการเกิดในจิตใจ เกดโดยวิญญาณ ซึ่งไม่มีพ่อแม่เป็นปัจจัยให้เกิด เป็นการเกิดความทุกข์ สาเหตุมาจากเด็กมีสภาพจิตด้อยด้วยคุณธรรม ขาดสติ ไม่มีปัญญารู้ชัดตามความเป็นจริง (อวิชชา) ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปทาน ภพ ชาติ ฯลฯ ซึ่งเป็นกระบวนการเกิดความทุกข์ในจิตใจ ความทุกข์จะเกิดดับ เกิดดับ สลับกันไปเป็นลูกโซ่ ประดุจสายฟ้าแลบ เป็นวงกลมหมุนเวียนเช่นนี้เลื่อยไปตลอดชีวิต จนกว่าจะดับทุกข์ได้


อุปมาแห่งชีวิต
       พระพุทธองค์ตรัสว่า ..."ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ศาสดาชื่อ อรกะ เป็นเจ้าลัทธิ ปราศจากความกำหนัดในกาม ก็อรกศาสดานั้นมีสาวกหลายร้อยคน เธอแสดงธรรมแก่ สาวกอย่างนี้ว่า....ดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อยนิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา (หรือจะพึงรู้ด้วยปัญญา) ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

อุปมาที่ ๑ น้ำค้างบนยอดหญ้า
       ดูก่อนพราหมณ์ หยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่ออาทิตย์ขึ้นมา ย่อมแห้งหายไปได้เร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตมนุษย์ทั้งหลายเปรียบเหมือนหยาดน้ำค้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดแล้วจะไม่ตายไม่มี

อุปมาที่ ๒ ฟองน้ำ
       ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำย่อมแตกเร็ว ตั้งอยู่ไม่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนฟองน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน...ฯลฯ

อุปมาที่ ๓ รอยไม้ที่ขีดลงในน้ำ
       ดูก่อนพราหมณ์ รอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ย่อมกลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ฉันนั้นเหมือนกัน...ฯลฯ

อุปมาที่ ๔ น้ำตก
       ดูก่อนพราหมณ์ แม่น้ำไหลลงจากภูเขา ไหลไปไกล กระแสเชี่ยวพัดไปซึ่งสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ไม่มีระยะเวลา หรือชั่วครู่ที่มันจะหยุด แต่ที่แท้แม่น้ำนั้นมีแต่ไหลเรื่อยไปถ่ายเดียว แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ฉันนั้นเหมือนกัน...ฯลฯ

อุปมาที่ ๕ น้ำลาย
       ดูก่อนพราหมณ์ บุรุษมีกำลัง อมก้อนเขฬะไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพึงถ่มไปโดยง่ายดาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนก้อนเขฬะ ฉันนั้นเหมือนกัน...ฯลฯ

อุปมาที่ ๖ ชิ้นเนื้อ
       ดูก่อนพราหมณ์ ชิ้นเนื้อที่ใส่ไว้ในกะทะเหล็ก ไฟเผาตลอดทั้งวัน ย่อมจะย่อยยับไปรวดเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อ ฉันนั้นเหมือนกัน...ฯลฯ

อุปมาที่ ๗  แม่โคที่จะถูกเชือด
       ดูก่อนพราหมณ์ แม่โคที่จะถูกเชือด ที่เขานำไปสู่ที่ฆ่า ย่อมก้าวเดินไปใกล้ที่ฆ่า ใกล้ความตาย แม้ฉันใด ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่โคที่จะถูกเชือด ฉันนั้นเหมือนกัน นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอายุประมาณ ๖๐,๐๐๐ ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕๐๐ ปี จึงควรแก่การมีสามี ก็โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายมีอาพาธ ๖ อย่างเท่านั้น คือ เย็น ร้อน หิว ระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อรกศาสดานั้น เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย มีอายุยืน ตั้งอยู่นาน มีอาพาธน้อยอย่างนี้ จักแสดงธรรมให้สาวกฟังอย่างนี้ว่าดูก่อนพราหมณ์ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ เมื่อจะกล่าวโดยชอบ ก็พึงกล่าวว่า ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายน้อย นิดหน่อย รวดเร็ว มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก จะพึงถูกต้องได้ด้วยปัญญา ควรกระทำกุศล ควรประพฤติพรหมจรรย์ เพราะสัตว์ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ คนที่มีอายุอยู่ได้นาน ก็เพียงร้อยปีหรือน้อยกว่านั้นบ้าง เกินกว่าบ้าง ก็คนที่มีอายุอยู่ถึงร้อยปีย่อมอยู่ครบ ๓๐๐ ฤดู คือ ฤดูหนาว ๑๐๐ ฤดูร้อน ๑๐๐ ฤดูฝน ๑๐๐

       คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๐๐ ฤดู ย่อมอยู่ครบ ๑,๒๐๐ เดือน คือ ฤดูหนาว ๔๐๐ เดือน ฤดูร้อน ๔๐๐ เดือน ฤดูฝน ๔๐๐ เดือน

       คนที่มีอายุอยู่ถึง ๑,๒๐๐ เดือน ย่อมอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน คือฤดูหนาว ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูร้อน ๘๐๐ กึ่งเดือน ฤดูฝน ๘๐๐กึ่งเดือน

       คนที่มีอายุอยู่ครบ ๒,๔๐๐ กึ่งเดือน ย่อมอยู่ครบ ๓๖,๐๐๐ ราตรี คือฤดูหนาว ๑,๒๐๐ ราตรี ฤดูร้อน ๑,๒๐๐ ราตรี ฤดูฝน ๑,๒๐๐ ราตรี คนที่มีอายุอยู่ถึง ๓๖,๐๐๐ ราตรี ย่อมบริโภคอาหาร ๗๒,๐๐๐ เวลา คือฤดูหนาว ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูร้อน ๒๔,๐๐๐ เวลา ฤดูฝน ๒๔,๐๐๐ เวลา พร้อมๆ กับดื่มนมมารดา และอันตรายแห่งการบริโภคอาหารใน ๒ ประการนั้น

       อันตรายแห่งการบริโภคอาหาร (หรือเหตุที่ทำให้ไม่ได้บริโภคอาหาร) มีดังนี้ คือ คนโกรธย่อมไม่บริโภคอาหาร คนมีทุกข์ก็ไม่บริโภคอาหาร คนป่วยไข้ก็ไม่บริโภคอาหาร คนรักษาอุโบสถก็ไม่บริโภคอาหาร (คน)เพราะไม่ได้อาหารจึงไม่บริโภคอาหาร

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้กำหนดอายุ ประมาณแห่งอายุ ฤดู ปี เดือน กึ่งเดือน ราตรี วัน การบริโภคอาหาร และอันตรายแห่งการบริโภคอาหาร ของมนุษย์ผู้มีอายุร้อยปีด้วยประการดังนี้แล้ว

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์เอื้อเอ็นดู พึงกระทำแก่สาวก กิจนั้นเรากระทำแล้วแก่เธอทั้งหลาย

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง ขอเธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าต้องเป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้คืออนุศาสนีของเราสำหรับเธอทั้งหลาย.”

พระไตรปิฎก (อรรถกถา) ล.๓๗

“อรกานุสาสนีสูตร” ข.๗๔ น.๒๗๓-๒๗๖)

บทความ