วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แอร์บัสเปิดตัวแนวคิดเครื่องบิน “ซี-ทรู” สุดล้ำสำหรับปี 2050


แอร์บัสเผยแนวคิดการออกแบบห้องโดยสารเครื่องบินสุดล้ำสำหรับปี 2050 ที่บริเวณผนังและหลังคาผลิตจากวัสดุโปร่งใส จึงให้มุมมองที่กว้างไกลในแบบพาโนรามา
เมื่อปีที่ผ่านมา “แอร์บัส” ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารสัญชาติฝรั่งเศส เคยเผยโฉมแนวคิดเครื่องบินโดยสารสำหรับปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ที่ทางแอร์บัสอาจผลิตขึ้นในอีก 40 ปีข้างหน้า ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับห้องโดยสารแต่อย่างใด
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ค่าย “แอร์บัส” ได้เปิดเผยรายละเอียดของ “ห้องผู้โดยสารแห่งโลกอนาคต” เพื่อให้เราๆ ท่านๆ นึกภาพออกว่าหากเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารของแอร์บัสในอีก 39 ปีข้างหน้า บรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องโดยสารจะสนุกสนาน และน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด
ไฮไลต์เด็ดของห้องผู้โดยสารแห่งโลกอนาคต อยู่ที่การออกแบบให้มีผนังและเพดานแบบโปร่งใส เอาใจคนชอบบรรยากาศแบบโปร่งโล่งและไม่กลัวความสูง เพราะจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ทั้งด้านบนและด้านล่างกว้างไกลในแบบพาโนรามา (แผงเซลล์บนหลังคาทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิ)

ภายในเครื่องบินแห่งโลกอนาคตของแอร์บัส ยังอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ออกแบบให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสารแต่ละราย โดยที่ไม่มีการแบ่งห้องผู้โดยสารออกเป็นชั้นเฟิร์สคลาส ชั้นธุรกิจ และประหยัดอีกต่อไป แต่จะแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้า อาทิ โซนสำหรับพักผ่อน, โซน ‘อินเตอร์แอคทีฟ’ เพื่อการติดต่อสื่อสาร, เล่นเกม, ช้อปปิ้ง ฯลฯ และโซน ‘สมาร์ทเทค’ สำหรับนั่งทำงาน หรือประุชุม เป็นต้น


สำหรับโซนพักผ่อนซึ่งให้บรรยากาศแบบซีทรูนั้น จะมีเบาะนั่งชนิดพิเศษที่สอดรับกับทุกรูปร่างของผู้โดยสาร ทั้งยังสามารถปรับระดับหรือขยับเปลี่ยนทิศทางได้ตามความต้องการ ส่วนอินเตอร์แอคทีฟโซน จะมีเทคโนโลยีจำลองภาพและบรรยากาศเสมือนจริง เช่น ร้านเสื้อผ้า ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าด้วยระบบสัมผัส โดยภาพเสื้อผ้าจะปรากฏให้เห็นและเลือกซื้อตรงหน้าผ่านระบบโฮโลกราฟฟิก เช่นเดียวกับโซนสำหรับเล่นเกมส์ ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกเล่น กอล์ฟ, เบสบอล, เทนนิส ฯลฯ ในบรรยากาศแบบเสมือนจริง
นอกจากความต้องการของผู้โดยสารแต่ละรายแล้ว ทางแอร์บัสยังให้ความสำคัญกับการปกป้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดของเสีย ประหยัดพลังงาน ทั้งยังสามารถนำพลังงานจากสภาพแวดล้อม (เช่น แสงอาทิตย์, ลม, ความร้อน ซึ่งรวมถึงความร้อนจากร่างกายมนุษย์ ฯลฯ) มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้เป็นเครื่องบินที่พึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด

บทความ