วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

นิทานเรื่อง "วิธีหาลูกสะใภ้"

นิทานธรรมะเรื่อง “วิธีหาลูกสะใภ้”  การหาลูกสะใภ้ คนโบราณเขาให้ความสำคัญมาก จึงพูดติดปากเป็นสุภาษิตว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ แต่ถ้าดูให้แน่ต้องดูกันถึงยาย”
 
คนโบราณเขาจึงสังเกตหลายอย่าง เช่น เวลาตำน้ำพริกเขาจะฟังเสียง รู้ทันที ถ้าสาวคนไหนเวลาตำน้ำพริกเสียงดังยาน ๆ นานเปก ๆ เขาบอกใช้ไม่ได้ หย่อนยานไม่มีสรรถภาพ ถ้าตำน้ำพริกเสียงไม่สม่ำเสมอคือ เดี๋ยวถี่ เดี๋ยวยาน เดี๋ยวตำ เดี๋ยวหยุด แปลว่า จิตใจไม่ปรกติ ขึ้น ๆ ลง ๆ ถ้ามีครอบครัวก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่มั่นคง เผลอ ๆ เอาสากกระเบือตีหัวผัวเข้าให้ แต่ถ้าลูกสาวบ้านใดตำน้ำพริกเสียงดังสม่ำเสมอรวดเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ แสดงว่าจิตใจมั่นคงดี พาครอบครัวรอดได้ คนนี้แหละเหมาะที่จะเป็นลูกสะใภ้ ดังนั้นจึงมีวิธีการหาลูกสะใภ้กันแปลกๆ ดังเช่นครอบครัวในเรื่องนี้


เดี๋ยวจะหาว่าเข้าข้างฝ่ายเดียวคือ หาแต่ลูกสะใภ้ วิธีหาลูกเขยก็มี คนโบราณมีวิธีสังเกต ดูตรงไหนรู้ไหม? ว่าหนุ่มคนไหนที่เหมาะจะมาเป็นลูกเขย เขาดูตอนที่ไหว้พระสวดมนต์ ไอ้หนุ่มคนไหน? เวลาพนมมือแต๋อยู่ที่อก สักพักตกมาที่ตัก สักพักพลั่กมาที่พื้น ทำมือหงิก ๆ หงอ ๆ คล้ายจะเป็นง่อย อย่าเอามาเป็นลูกเขยเป็นอันขาด ทำไมหรือ? ขนาดมือมันเองยังยกไม่รอด แล้วมันจะไปยกครอบครัวรอดได้อย่างไร? แต่ถ้าไอ้หนุ่มคนไหนพนมมือตั้งแต่ต้นจนจบ มือไม่ตกเลย นี่แสดงว่ามีสมรรถภาพ สมควรเอามาเป็นลูกเขยได้ อย่าดูถูกคนโบราณเชียวนา จากนี้เราจะไปดูวิธีลูกสะใภ้ในเรื่องนี้

นี่เป็นครอบครัวเศรษฐี ท่านเศรษฐีผู้นี้ มีชื่อว่า “เจ้าสัว” มีสวนผลไม้มากมาย เป็นต้นว่าสวนเงาะ สวนมังคุด สวนส้ม เขาเป็นพ่อหม้าย มีลูกชายหนึ่งคน โตพอที่จะมีครอบครัวได้แล้ว วันนี้ก็เรียกลูกเข้ามาคุยด้วย พ่อถามว่า “ปีนี้เจ้าอายุเท่าไหรละ?” ลูกตอบว่า “ผมอายุ 25 ครับพ่อ” พ่อพูดว่า “เอ็งน่าจะหาเมียแต่งงานได้แล้วนะ” ลูกตอบว่า “โถ ! พ่อ เดี๋ยวนี้ผู้หญิงดี ๆ นี่หายากจะตายไป หน้าที่การงานก็ไม่ค่อยจะทำ เอาแต่แต่งตัว แต่งหน้าทาปากเขียนคิ้ว หมุนอยู่แต่หน้ากระจก วันหนึ่งตั้ง 10 รอบ เห็นถ้าจะไม่ไหว ผมขออยู่เป็นโสดดีกว่า” พ่อก็ว่า “เฮ้ย ! ไม่ได้นะ ยังนี้ดีกว่า เดี๋ยวพ่อจะหาเมียให้เจ้า ๆ จะว่าไง?” ลูกพูดว่า “จะดีหรือพ่อ? พ่อพูดว่า “เจ้าก็พูดเกินไป ผู้หญิงดี ๆ ก็พอหาได้อยู่หรอก” ผู้เป็นลูก “พ่อจะหาอย่างไรละ” พ่อบอกว่า “พ่อมีวิธีของพ่อ เจ้าคอยดูก็แล้วกัน”
ว่าแล้วเจ้าสัวก็ให้คนงานเก็บส้มใส่รถเข็นเต็มคันเลย แล้วก็เข็นไปตามหมู่บ้าน พอถึงกลางหมู่บ้านก็ตะโกนออกไปดัง ๆ ว่า “พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย บรรดาสาวแก่แม่หม้าย บ้านใครมีขยะหยากไย้ใยแมลงมุมกวาดเอามาแลกกับส้มของข้าพเจ้าได้” พวกสาว ๆ ทั้งหลายเมื่อได้ยิน ก็คิดว่าเจ้าสัวนี่ถ้าจะบ้า เคยได้ยินแต่ใครมีฝาลิโพ กระทิงแดงให้เอามาแลกของ แต่นี่กลับให้เอาขยะมาแลกส้ม ด้วยอยากได้ของฟรี ก็พากันกุลีกุจอกวาดขยะกันใหญ่ บ้านใครนานๆ กวาดทีก็ได้มากหน่อย บ้านใครกวาดบ่อย ๆ ก็ได้มานิดเดียว ยายเสื้อสีแดงนี่ ! แม่หม้ายลูกสาม พอมาถึงพูดใส่ทันที “นี่คุณลุง ทีหลังนะมาบอกล่วงหน้าสักห้าวันก็ยังดี จะได้กวาดให้มากกว่านี้ บ้านฉันนี้มีเยอะเลย ฉันกวาดไม่ทันไรได้มาสามเข่ง” เจ้าสัวนึกในใจ “แค่เข่งหนึ่งฉันก็รู้แล้ว แม่คุณนายสิบโมง บ้านช่องไม่เคยกวาด อย่าหวังเลยจะมาเป็นสะใภ้ข้าได้”

พอเข็นมาถึงท้ายหมู่บ้าน ก็พอดีสาวน้อยคนหนึ่งนำขยะออกมาให้เจ้าสัว “คุณลุง หนูเอาขยะมาแลกค่ะ แต่บ้านหนูได้มาแค่นี้แหละ หนูกวาดทุกวันเลยไม่ค่อยมี” เจ้าสัวรู้สึกพอใจมากที่เห็นอัธยาศัยของสาวน้อยผู้นี้ “จริงหรือเปล่าที่ว่าบ้านหนูไม่ค่อยมีขยะ” “จริงสิลุง ไม่เชื่อก็เข้าไปดูได้” เจ้าสัวจึงทำทีขอเข้าไปดื่มน้ำในบ้าน ด้วยหวังจะไปพิสูจน์ให้เห็นจริง สาวน้อยผู้นี้ก็ต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี ในขณะนั้นก็สังเกตบ้านเรือนไปด้วย ก็เรียบร้อยสะอาดสะอ้านมาก ตั้งแต่กระไดบ้านจนถึงในครัว ไม่เหมือนบ้านสาวบางคนพอเปิดเข้าไปในครัว เหม็นกลิ่นเคยกลิ่นกระปิตุ ๆ จึงตกลงปลงใจปองหมายสาวน้อยผู้นี้ทันที
ต่อมาเจ้าสัวก็ได้ไปสู่ขอสาวน้อยผู้นี้ มาเป็นลูกสะใภ้ เมื่อแต่งงานเสร็จแล้วก็มาอยู่บ้านพ่อผัวทันที ลูกสะใภ้คนนี้เป็นเด็กขยัน ดูแลงานบ้านเป็นอย่างดี ตื่นก่อนนอนทีหลัง ปรนนิบัติสามีและพ่อผัวทุกวัน ถ้างานไม่เสร็จเธอจะไม่นอน “สาวน้อยคนนี้ได้เป็นลูกสะใภ้เศรษฐีเพราะหน้าที่หรือหน้าตา?” “เพราะหน้าที่” เพราะฉะนั้นพวกเราควรที่จะให้ความสำคัญกับหน้าที่ให้มากกว่าหน้าตา เพราะหน้าตานั้นไม่คงที่ แต่หน้าที่สิคงทน คนเรามีหน้าอยู่ 3 หน้าด้วยกัน คือ
“หน้านอกบอกความงาม
หน้าในบอกความดี
หน้าที่บอกความสามารถ”
เมื่อเป็นเด็กก็มีความนิ่ง พอโตเป็นสาวก็มีความสะดีดสะดิ้งเป็นธรรมดา ระวังอย่าสะดีดสะดิ้งให้มากนัก เป็นสาวเป็นแส้เดี๋ยวจะไม่งาม
“คนจะงาม งามน้ำใจ ใช่ใบหน้า
คนจะสวย สวยกริยา ใช่ตาหวาน
คนจะแก่ แก่ความรู้ ใช่อยู่นาน
คนจะรวย รวยศีลทาน ใช่บ้านโต.

บทความ